^ Back to Top

นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก”

นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก”

นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” กมล เผ่าสวัสดิ์ (Kamol Phaosawasdi), คามิน เลิศชัยประเสริฐ (Kamin Lertchaiprasert), จุมพล อภิสุข (Chumpon Apisuk), ชาติชาย ปุยเปีย (Chatchai Puipia), ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ (Tawatchai Puntusawasdi), นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล (Navin Rawanchaikul), ประสงค์ ลือเมือง (Prasong Luemuang), พินรี สัณฑ์พิทักษ์ (Pinaree Sanpitak), มานิต ศรีวานิชภูมิ (Manit Sriwanichpoom), มณเฑียร บุญมา (Montien Boonma), ไมเคิล เชาวนาศัย (Michael Shaowanasai), ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija) และอารยา ราษฎร์จําเริญสุข (Araya Rasdjarmrearnsook) จัดแสดงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 24 พฤศจิกายน 2562 และจะมีพิธีเปิดในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562 ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : bacc

ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน "รอยแยก"

วันที่ : 30 สิงหาคม - 24 พฤศจิกายน 2562
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9

โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พิธีเปิด วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562

ภัณฑารักษ์
กษมาพร แสงสุระธรรม
ชล เจนประภาพันธ์

ศิลปิน
กมล เผ่าสวัสดิ์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, จุมพล อภิสุข, ชาติชาย ปุยเปีย, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ประสงค์ ลือเมือง, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, มานิต ศรีวานิชภูมิ, มณเฑียร บุญมา, ไมเคิล เชาวนาศัย, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และอารยา ราษฎร์จําเริญสุข

นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” ตั้งต้นมาจากการทบทวนภูมิทัศน์ของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 2000 ช่วงเวลาที่มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้น เรื่อยมาจนกระทั่งถึงขณะที่กล่าวกันว่าศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยพุ่งถึงจุดสูงสุด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมหาศาล ราวกับก่อให้เกิด “รอยแยก” ต่างๆ ในโลกศิลปะไทยที่ยังส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน จากการท้าทายโครงสร้างอำนาจทางศิลปะในเชิงสถาบันและในเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ ทั้งด้วยการสร้างพื้นที่ศิลปะอิสระ การเชื่อมต่อกับเครือข่ายศิลปะข้ามชาติ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสรรค์ผลงานแหวกขนบจากศิลปินหัวก้าวหน้าในขณะนั้น นิทรรศการนี้รวบรวมปฏิบัติการทางศิลปะและวิธีคิดเกี่ยวเนื่องที่ผลิตและปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ผลงานศิลปะที่รวบรวมอยู่ในนิทรรศการส่วนหนึ่งเป็นการคัดสรรผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย และวิดีโออาร์ต ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือหลักฐานของการแสดงผลงานศิลปะที่ได้รับการบันทึกไว้ จากผลงานของศิลปินไทย 13 ท่าน ทั้งที่จบการศึกษาศิลปะในประเทศและต่างประเทศ  ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาสำคัญนี้เป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แห่งยุคสมัย อันเปรียบได้กับการประกาศการเข้าสู่ภาวะหลังสมัยใหม่ในทางศิลปะ ทั้งการเลือกใช้วัสดุในการผลิตผลงานที่แปลกออกไป ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของเหลือใช้และวัสดุสำเร็จรูป รวมถึงการใช้ร่างกายของศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง และการใช้สื่อศิลปะสมัยใหม่เพื่อสร้างผลงานด้วยเทคนิควิธีและรูปแบบที่ต่างไปจากขนบดั้งเดิม ตลอดจนในเชิงเนื้อหา ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงตั้งคำถามกับคุณค่าทางศิลปะแบบจารีตและกรอบคิดว่าด้วยความงามของศิลปะที่สมบูรณ์แบบและมีแบบแผน ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์คุณค่าทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับเส้นแบ่งพรมแดนทางความหมาย ช่วงชั้นและลำดับชั้น ตลอดจนประเด็นเรื่องเพศภาวะ เป็นต้น

นิทรรศการชักชวนให้ผู้ชมสำรวจปฏิบัติการศิลปะอันหลากหลาย ทั้งยังนำเสนอเครือข่ายของผู้คน องค์กร และกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านผลงานและการจัดแสดงที่จำลองสภาวะของการเผชิญหน้า ความแปลกแยก กระทั่งการเคลื่อนตัวออกจากกันอย่างไม่ลงรอย แม้ผลงานที่คัดสรรมานี้จะถูกจัดวางอยู่ในระนาบเดียวกันทางเวลา แต่ผลงานศิลปะเหล่านี้ต่างก็สร้าง “รอยแยก” ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งต่างเวลา ต่างความหมาย และบางครั้งก็ซ้อนทับกัน ขณะที่บางครั้งก็ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันตามปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินแต่ละท่าน การหันกลับไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจึงไม่ได้มุ่งจะสร้างภาพความเข้าใจของสิ่งที่อุบัติขึ้นในโลกศิลปะไทยทั้งหมดในภาพรวม  ทว่าต้องการเสนอการกลับไปทำความเข้าใจช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ระยะใกล้จากจุดยืนของปัจจุบัน เพื่อพิจารณาใหม่ว่าจะสามารถเข้าใจยุคทองของโลกศิลปะร่วมสมัยไทยในฐานะที่เป็นช่วงเวลาแห่งรอยแยกที่นำไปสู่การแยกตัว การเกิดรอยเลื่อน และจุดแตกหักต่างๆ ได้อย่างไร

กิจกรรมประกอบนิทรรศการที่เปิดให้ผู้ชมสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ มีดังนี้
กิจกรรม Workshop "รูปรอยพิมพ์บนดินเผา: ปฏิบัติการศิลปะของมณเฑียร บุญมา”
วันที่ 3 สิงหาคม 2562 เวลา 13:00 - 17:00 น.
โดย ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
939 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 214 6630 – 8 ต่อ 531

Exhibition date: 
30 Aug 2019 - 10:00 to 24 Nov 2019 - 21:00