^ Back to Top

นิทรรศการ “Sig(x)nature”

นิทรรศการ “Sig(x)nature”

นิทรรศการจิตรกรรม ,Mixed Technique, Video, Installation “Sig(x)nature” ผลงานโดยศิลปินกลุ่มซิกส์เนเจอร์ ประกอบด้วย สิทธิพงศ์ ปานสมทรง [Sittipong Pansomsong], วรัญญู ช่างประดิษฐ์ [Waranyou Changpradit], กาญจนา ชลศิริ [Kanjana Chonsiri], วัชระ กว้างไชย์ [Watchara Kwangchai], ภารุจีร์ สุริยกานต์ [Parujee Suriyakan] และ Rebecca Vickers จัดแสดงระหว่างวันที่ 11 – 27 กรกฎาคม 2557 และจะมีพิธีเปิดในวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 เวลา 18.00 น. ณ ห้องนิทรรศการชั้น 1 ห้อง 2 Chamchuri Art Gallery : หอศิลป์จามจุรี

นิทรรศการ       Sig(x)nature
ศิลปิน                 กลุ่มซิกส์เนเจอร์

  • สิทธิพงศ์ ปานสมทรง [Sittipong Pansomsong]
  • วรัญญู ช่างประดิษฐ์ [Waranyou Changpradit]
  • กาญจนา ชลศิริ [Kanjana Chonsiri]
  • วัชระ กว้างไชย์ [Watchara Kwangchai]
  • ภารุจีร์ สุริยกานต์ [Parujee Suriyakan]
  • Rebecca Vickers

ลักษณะงาน         จิตรกรรม ,Mixed Technique, Video, Installation
ระยะเวลาที่จัดแสดง        11 – 27 กรกฎาคม 2557
พิธีเปิดนิทรรศการ           16 กรกฎาคม 2557 เวลา 18.00น.
ห้องนิทรรศการ                 ห้องนิทรรศการชั้น 1 ห้อง2
ติดต่อศิลปิน                       087-3932900 (วรัญญู)

แนวความคิด
ภายใต้คุณสมบัติที่คล้ายคลึง
ไม่ว่าจะเป็นรากเหง้าของถิ่นกำเนิด ครอบครัว
เชื้อชาติ ความเชื่อและศรัทธาทางศาสนา
วัฒนธรรมหรือประเพณีที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น
รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและน่าค้นหา [นามธรรม]
ที่แต่ละคนจะสะท้อนเอาประสบการณ์ แรงบันดาลใจ ด้วยอัตลักษณ์  [Signature]
ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์แห่งศิลปะ สู่ [รูปธรรม]
เฉกเช่นธรรมชาติในการแสดงออกของศิลปินทั้ง 6 คน [Six-nature]

Nationality, Ethnicity, Belief, Religion and Faith are qualities that color the character of us all. Through tradition and culture and across generations these conditions sketch out new forms unique to our ever-changing environment and understanding of it. Experience, Identity, and Inspiration mix the old with the new creating shades and hues, the language common but the words new, taking on stories and forms unique to the process of interpretation and the creative nature of the individual. 

สิทธิพงศ์ ปานสมทรง / Sittipong Pansomsong
ชื่อผลงาน: “มโนราห์ตัวอ่อน”
ขนาด: ผันแปรตามพื้นที่
เทคนิค: ฉลุหนัง ระบายสี ร้อยลูกปัด
แนวความคิด: นำเทคนิคช่างพื้นบ้านภาคใต้ คือ การแกะหนังตะลุงมาสร้างสรรค์ผ่านผลงานศิลปกรรมไทยในรูปแบบ 3 มิติ ที่มีปริมาตร สู่ความเป็นร่วมสมัย  โดยอาศัยเรื่องราวที่ว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ จนกลมกลืนกัน แม้จะดูแปลกตาแต่ก็ยังคงคุ้นความรู้สึก เพราะด้วยความอ่อนช้อยแบบไทยๆ และลวดลายที่ดูมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน

วรัญญู ช่างประดิษฐ์ / Waranyou Changpradit
ชื่อผลงาน: “ในฐานะผู้ฟังที่ดี” (Listener)
ขนาด: 140 x 170 ซม.
เทคนิค: จิตรกรรมผสมบน Paper Mache
แนวความคิด: ไม่มีมนุษย์คนใดปราศจากซึ่งการแสวงหาทางออกแห่งทุกข์ รวมไปถึงข้าพเจ้าเอง ด้วยศรัทธาที่มีต่อกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ รังสรรค์พื้นที่ส่วนบุคคลผ่านโลกทัศน์ในอุดมคติ อันไร้กฎเกณฑ์หรือการยึดติดบรรทัดฐานใดๆ จากโลกในความเป็นจริง เสมือนดินแดนบริสุทธิ์ ที่คัดกรอง ทบทวนและพิจารณาถึงสภาวะจิตที่แท้จริงของข้าพเจ้าเอง เพื่อเข้าสู่ความจริงสูงสุดอันมีปลายทางเดียวกันกับหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

กาญจนา ชลศิริ / Kanjana Chonsiri
ชื่อผลงาน: “ลมหายใจแห่งธรรมชาติ”
ขนาด: 270 x 200 ซม.
เทคนิค: แกะ ดินสอพอง / วาดเส้น/ ระบายสี
แนวความคิด: ธรรมชาติ และ จักรวาลมีความเป็นมาที่ยาวนาน ก่อนกาลเวลาที่นับได้โดยมนุษย์ และการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลก ปรากฏการณ์อันอัศจรรย์ ยิ่งใหญ่ ทรงพลังและเร้นลับ เป็นจิตวิญญาณที่น่ายำเกรง สร้างพลังชีวิตต่อมนุษย์ ทั้งปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ และ วิทยาศาสตร์ จากธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล หรือ สายลมเพียงเล็กน้อยที่หายใจเข้าออก

วัชระ กว้างไชย์ / Watchara Kwangchai 
ชื่อผลงาน: “หมู่ดาว”
ขนาด: 120 x 210 ซม.
เทคนิค: ปะติด ฉลุกระดาษ
แนวความคิด: เวลามองไปบนฟากฟ้าในยามค่ำคืน มองเห็นหมู่ดวงดาวที่กำลังทอแสงบนนภา ชวนให้คิดและจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของมวลหมู่ธรรมชาติ ในดินแดนอันผาสุกที่มีความสามัคคี กลายเป็นแรงดลใจให้ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ผลงานชุด “หมู่ดาว” ให้เกิดความสนุกสนาน ชวนคิดกับเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้เกิดมุมมองและจินตนาการไม่รู้จบ

ภารุจีร์ สุริยกานต์ / Parujee Suriyakan
ชื่อผลงาน: “กลับมาบ้าน”
ขนาด: ผันแปรตามพื้นที่
เทคนิค: เทคนิคผสม
แนวความคิด: มีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่โครงสร้างของมันถูกออกแบบไว้เพื่อปกป้อง มีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่เราใช้งานมันด้วยการใช้ชีวิตของเรามีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ชื่อของมันไม่ได้ใช้เรียกกายภาพภายนอกของมันเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับข้าพเจ้า ยังหมายถึง ครอบครัว ความรัก และความผูกพันมีสถานที่แห่งหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำ และความคาดหวังในอนาคตของ ข้าพเจ้าที่แห่งนั้นคือ “บ้าน” ข้าพเจ้าเขียนรูปบ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ของความสุขทั้งมวล ความเป็นเพื่อน ความอบอุ่น และความหวัง โดยให้ผิวสัมผัสของไม้ กวนเอาตะกอน ของความอุ่นใจ ความไว้วางใจ และความสุขที่นอนก้นอยู่ได้ฟุ้งขึ้นมาหมุนวนอยู่รอบตัวข้าพเจ้าอีกครั้ง

Rebecca Vickers
ชื่อผลงาน: “Whirlylights”
ขนาด: Variable Size
เทคนิค: Video, Installation
แนวความคิด: \/\/Whirlylights/\/\/ จะใช้ชุดรูปแบบที่มีอยู่แล้วและปรากฏให้เห็นในสภาพแวดล้อมที่เราเผชิญเพื่อนำมาเล่าเรื่องใหม่ เอกลักษณ์ของวัตถุเหล่านั้นจะกระตุ้นให้เราพิจารณาสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าอย่างระมัดระวัง โดยเน้นและให้ความสำคัญกับลักษณะพิเศษที่ไม่ซ้ำเดิมของสภาพแวดล้อมที่เรามักจะละเลยโดยการรวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ไว้ด้วยกันกล่าวคือ การใช้รูปแบบที่ดำรงอยู่ก่อนเพื่อที่จะเน้นความคิดที่ว่า ความท้าทายที่แท้จริงนั้น มิใช่การรับรู้สิ่งที่เป็นในทางที่มันเป็น แต่เป็นการรับรู้ว่า สิ่งที่มันเคยเป็นมาจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร

ข่าวประชาสัมพันธ์ : Chamchuri Art Gallery : หอศิลป์จามจุรี

Exhibition date: 
11 Jul 2014 - 10:00 to 27 Jul 2014 - 19:00