^ Back to Top

นิทรรศการ “เดี่ยวโชว์ : เมืองคนลวง”

นิทรรศการ “เดี่ยวโชว์ : เมืองคนลวง”

นิทรรศการ “เดี่ยวโชว์ : เมืองคนลวง” ผลงานโดย มงคล เกิดวัน จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 - 26 กุมภาพันธ์ 2557 ตั้งแต่เวลา10.00 - 18.00 น. และจะมีพิธีเปิดใน วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ตั้งแต่เวลา18.00 น. ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

การแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของ มงคล เกิดวัน ประติมากรไทยร่วมสมัย เจ้าของผลงาน 1 เหรียญทอง รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ปีพ.ศ.2543 และ 2 เหรียญเงิน รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ปีพ.ศ.2542 และ 2544 ประเภทสื่อผสม ผลงานมาจากความคิดที่ถูกบ่มเพาะและทักษะฝีมือที่ถูกขัดเกลามาร่วมสิบปี ภายใต้คอนเซ็ปต์“เมืองคนลวง”เมืองของความจริงหรือความลวงที่หลอกลวงคนทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเวลาใด วงการใด ไปจนถึงปัจจุบันกาลที่ซึ่งกำลังเกิดวิกฤตการณ์การเมืองระดับชาติ ความลวงก็ยังคงลวงคนได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คนยังหลงอยู่ในวังวนของความลวง หลอกลวงตัวเองและสังคมว่า…เป็นความจริงอันน่าหลงใหล

โลกที่เราอยู่ในปัจจุบันเป็นโลกจริงหรือโลกลวงกันแน่? และการตั้งคำถามกับสุนทรียะในการชมงานศิลปะของผู้คนว่าเป็นการชมแบบอาหารตาหรืออาหารสมอง? เหล่านี้เป็นคำถามที่มงคลอยากตั้งไว้ให้แง่คิดกับคนดูในฐานะศิลปินที่รังสรรค์ผลงานศิลปะ

มงคล เกิดวัน ใช้ทักษะฝีมือและวัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติจากความจริง ใช้ศิลปะขัดเกลาวัสดุและจิตใจของตนเองเป็นผลงานศิลปะลวงโลก ฉีกกฎเกณฑ์ประติมากรรมรูปแบบเก่าทิ้งด้วยการสร้าง เรื่องลวงโลกขึ้นใหม่กับนางแบบและนายแบบ อาทิ แม่บ้านมีหนวด วุฒิกร คงคา อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยภาพถ่ายยุคดิจิตอลเข้ามาจัดการผลงานให้ยิ่งดูลวงมากขึ้นไปอีก เนื้อหาความคิดหลักของมงคลกล่าวถึงความลวงที่ปรากฏอยู่ในหลากหลายบริบทของสังคมจนกลายเป็น เมืองคนลวง ที่ซึ่งมงคลใช้สุนทรียะในการสร้างสรรค์ผลงานบอกเล่าความเจ็บปวดของการซึมซับ รับรู้ จนถ่ายทอดเป็นความลวงในบริบทต่างๆซึ่งปรากฏในผลงานแต่ชุด อาทิ

ผลงานชุดที่ ๑“รูปหล่อ พ่อรวย ควยใหญ่”กล่าวถึงมายาภาพของคตินิยมในสังคมไทยซึ่งสะท้อนความไม่เสมอภาคของคน แม้จะเกิดมาเท่าเทียมกันทั้งสมองและมือตีน แต่ต่างฐานะกันก็ย่อมสร้างความลวงให้ผู้คนชื่นชมและหลงใหลไปกับมายาคตินั้น

ผลงานชุดที่ ๒“Repair” สะท้อนมายาคติของชีวิตลูกผู้หญิงในปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาศัลยกรรมความงามเพื่อเติมแต่งชีวิตให้ก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ที่สังคมสร้างมายาลวงไว้ให้หลงตาม

ผลงานชุดที่ ๓ “บัณฑิตตลาดนัด” สะท้อนความลวงโลกของระบบการศึกษาไทยที่เห็นแก่ระบบทุนนิยม การศึกษากลายเป็นการลงทุน อยากเป็นผู้มีการศึกษาต้องลงทุน ไม่มีทุนต้องกู้ ผลที่ได้จากการศึกษาคือ ภาวะตกงาน(ไปขายของตลาดนัด) และ หนี้สิน

ผลงานชุดที่ ๔ “หมื่นเก้าพันหกร้อยเก้าสิบห้า” ล้อถึงวันเวลาที่มงคลใช้ชีวิตอยู่ในเมืองคนลวงนี้มายาวนานถึง ๑๙,๖๙๕ วัน ไม่ต่างกับคนอื่นๆที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกความจริงที่ถูกความลวงบดบังไว้ด้วยอาชีพ ยศ ตำแหน่ง บทบาทในสังคมที่ถูกอุปโลกขึ้น

ผลงานชุดที่ ๕ “สังคมนิยม”โลกอุดมคติที่อาจจะไม่มีจริง แต่มงคลอยากให้สังคมมีส่วนผสมจากผู้คนหลากหลายเพศได้มีพื้นที่ในการสร้างสังคมที่ดี เปรียบเหมือนสีครามซึ่งไม่ใช่สีที่มีอยู่จริง มันเกิดจากการผสม สังคมนิยมสะท้อนทัศนคติที่ยังมีหวังของศิลปิน

ผลงานชุดที่ ๖ “สุสานความเลว” ความดี ความเลว ความโง่ มาจากการเพาะบ่ม เด็กน้อยลืมตาดูโลกย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่การดำรงชีวิตในสังคมลวงๆ ย่อมบ่มให้พัฒนาการของคนเป็นไป ไม่ว่ามันจะดี จะเลว หรือจะโง่ ก็ตาม

ผลงานทั้งหมดถูกรังสรรค์ขึ้นภายในระยะเวลาร่วมสิบปีจากกำลังมือ กำลังสมอง กำลังความคิดที่เพาะบ่มผ่านเรื่องราวที่วิ่งเข้ากระทบชีวิตศิลปินเป็นระลอกๆ โลกความจริงที่มงคลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันล้วนฉาบทาไปด้วยความลวง ความจอมปลอม ทั้งรูปธรรมและนามธรรมจนเขาอาจเชื่อไปแล้วว่า… เขาอยู่ในเมืองคนลวงไปแล้วจริงๆ แม้แต่โลกของศิลปะ ในฐานะศิลปินก็หลงไปกับมายาคติของมัน เขาทำศิลปะทุกวัน แต่ละชิ้นส่วนของงานถูกแกะ ถูกปั้น ถูกทา ถูกฉาบ อย่างปราณีตบรรจง จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียแขนขวาในระหว่างสร้างสรรค์ผลงาน มงคลต้องพักรักษาแขนเป็นปี แต่โลกของเมืองคนลวงชวนเขาให้ะทิ้งความจริงอันแสนเจ็บปวดไปสู่ความมานะบำบัดจนเกิดผลสำเร็จเป็นผลงานประติมากรรมสื่อผสมแบบจัดวาง (Installation Art)

Exhibition date: 
7 Feb 2014 - 10:00 to 26 Feb 2014 - 18:00