นิทรรศการการวิจัยสร้างสรรค์ "พายุ"
นิทรรศการการวิจัยสร้างสรรค์ "พายุ" ผลงานโดย อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี (Anurot Chanphosri) จัดแสดงระหว่างวันที่ 13 มีนาคม - 24 เมษายน 2567 และจะมีพิธีเปิดในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 17.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : CU. Museum
นิทรรศการ นิทรรศการการวิจัยสร้างสรรค์ "พายุ"
การสร้างสรรค์จิตรกรรมร่วมสมัยจากฮูปแต้มสองฝั่งโขงไทย-ลาว
สู่การแปรเปลี่ยนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ศิลปิน อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี
ผู้รับผิดชอบนิทรรศการ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ
ระยะเวลาที่จัดแสดง วันที่ 13 มีนาคม – 24 เมษายน 2567
พิธีเปิดนิทรรศการ วันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 17.00 น.
ห้องนิทรรศการ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแนวความคิด
"ภาพนางสุมณฑา ยืนอยู่ขอบประตู" ชวนให้นึกถึงความรู้สึกสะเทือนใจและความเจ็บปวดของนางสุมณฑาที่ต้องเฝ้ามองการสู้รบเพื่อแย่งชิงตนระหว่างสินไซผู้เป็นหลานและยักษ์กุมภัณฑ์ผู้เป็นสามี โดยความรู้สึกนี้ได้เกิดขึ้นกับศิลปินในขณะที่คัดลอกภาพฮูปแต้มนิทานพื้นบ้านเรื่อง "สินไซ" ของสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม จังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องจากภาพฮูปแต้มในวัดนั้นได้จางหายไปประมาณกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปอย่างถูกต้องจึงลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลของฮูปแต้มตามวัดต่าง ๆ ที่มีเรื่องราวการสู้รบระหว่างสินไซและยักษ์กุมภัณฑ์ โดยเริ่มเดินทางไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลจากสิม จำนวน 44 วัด รวมถึงการค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจึงเริ่มพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ใหม่จนเกิดผลงานในชุดนี้ผลงานชุด "พายุ" เกิดขึ้นจากการนำลายเส้นจากฮูปแต้มจากสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และข้อมูลทางเอกสารมาพัฒนาลายเส้นขึ้นใหม่ให้เป็นแบบเฉพาะของตนซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ฉากการสู้รบของสินไซและยักษ์กุมภัณฑ์ที่ศิลปินได้เขียนขึ้นต่อเติมภาพที่ขาดหายไป โดยจัดวางองค์ประกอบเรื่องราวใหม่ และเขียนภาพด้วยเทคนิค "จารบาติก" ซึ่งเป็นเทคนิคที่ศิลปินพัฒนามาจากภูมิปัญญาโบราณและท้องถิ่น
ในภาพผลงาน ศิลปินได้สร้างพื้นผิวให้มีลักษณะผุกร่อนเสื่อมสลายเพื่อสื่อถึงลักษณะของฮูปแต้มจริงที่ได้พบเห็นและยังสื่อถึงเรื่อง ไตรลักษณ์ การเลือกใช้พาราฟิน (Paraffin) ลงรองพื้นเพื่อให้พื้นผิวเกิดลวดลายที่มีความแตกหัก ส่วนการเขียนภาพลายเส้นบนภาพใช้เทคนิคเดียวกันกับการจารหรือเขียนบนใบลานเพื่อให้เกิดเส้นที่คมชัด และอีกหนึ่งเทคนิคที่ใช้คือ บาติก ซึ่งการผสานกันของสองเทคนิคเป็นสิ่งที่ศิลปินคิดค้นขึ้นมาโดยมีวิธีการเขียนลายเส้นลงบนผ้าด้วยเหล็กแหลม ทำให้เกิดรูปร่างและทรง หลังจากนั้นใช้จันติ้งลงเทียนสีและนำไปมัดย้อมด้วยสีบาติกตามลำดับ ซึ่งในภาพชุดนี้เลือกใช้สีโทนสีน้ำเงิน ดำ และน้ำตาลเป็นหลักทำให้ภาพมีความเข้มขรึม และขลังเพื่อสื่อถึงความหนักหน่วงที่เกิดในใจของนางสุมฑาและแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการสู้รบระหว่างสองฝ่ายที่มีความรุนแรงราวกับพายุอีกด้วย
เปิดให้เข้าชมทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30น.
ปิดให้บริการ เสาร์,อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
ข่าวประชาสัมพันธ์ : พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : CU. Museum