^ Back to Top

นิทรรศการภาพถ่ายชีวประวัติ “ชีวิตมหาตมาคานธี : The Life of Mahatma Gandhi”

นิทรรศการภาพถ่ายชีวประวัติ “ชีวิตมหาตมาคานธี : The Life of Mahatma Gandhi”

นิทรรศการภาพถ่ายชีวประวัติ “ชีวิตมหาตมาคานธี : The Life of Mahatma Gandhi” จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2562 และจะมีพิธีเปิดในวันที่ 2 ตุลาคม 2562 เวลา 17.00 น. ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิทรรศการ “ชีวิตมหาตมาคานธี” (The Life of Mahatma Gandhi)
ผู้รับผิดชอบนิทรรศการ ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย
ลักษณะงาน ภาพถ่ายชีวประวัติ
พิธีเปิดนิทรรศการ วันที่ 2 ตุลาคม 2562 เวลา 17.00น.
ระยะเวลาที่จัดแสดง วันที่ 3 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2562
ห้องนิทรรศการ ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนวความคิด
โมหันทาส กรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) หรือที่คนไทยรู้จักในนามมหาตมาคานธี เกิดในปี ค.ศ. 1869 ในรัฐคุชราต บริติชอินเดีย เขาเป็นบุคคลสำคัญของอินเดียที่มีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชอินเดียจากบริติช ราชในช่วงทศวรรษ 1940 มหาตมาคานธีเป็นผู้นำกิจกรรมทางการเมืองผู้มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และมีแนวคิดทางเศรษฐกิจอันมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้อินเดียสามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการชี้นำจากโลกตะวันตก ตลอดการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของเขา คานธียึดมั่นในแนวคิดอหิงสา คือการไม่ใช้ความรุนแรงและอดกลั้นต่อความรุนแรงที่ตนประสบ รวมทั้งแนวทางอารยะขัดขืน (Civil Disobedience) โดยไม่ยอมให้ความร่วมมือกับแนวนโยบายของผู้ปกครองที่กดขี่ เชิดชูแนวคิดฮินดูนิยมและสวราช คือการปกครองในหมู่ตนเอง หลังอินเดียได้รับเอกราชไม่นานนัก มหาตมาคานธีก็ถูกสังหารในวันที่ 30 มกราคม 1948 ผลงานชั่วชีวิตของเขาทำให้อนุชนยกย่องเชิดชูเขาเป็น “บิดาแห่งชาติ” อินเดียสมัยใหม่ตราบจนทุกวันนี้

ปี 2019 คือ ปีครบรอบ 150 ปีชาตกาลของมหาตมาคานธี เพื่อรำลึกถึงคุณความดีและเกียรติประวัติของคานธี รวมทั้งปรัชญาทางเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองที่คานธีได้ฝากไว้แก่โลก ในวาระดังกล่าว ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กำหนดจัดนิทรรศการภาพถ่ายชีวิตมหาตมาคานธี เพื่อเป็นการถ่ายทอดประวัติชีวิต กิจกรรม และสารจากบิดาแห่งชาติอินเดียผู้นี้ รวมทั้งวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคานธี เช่น “จรขา” คือกงปั่นด้ายที่คานธีได้ใช้เพื่อเรียกร้องให้ชาวอินเดียลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง นำไปสู่สวราชและสวเทศี ทั้งนี้ จรขาเคยเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนธงอินเดียก่อนที่จะพัฒนามาเป็นอโศกธรรมจักรในปัจจุบัน จึงมีความผูกพันกับวิถีแห่งการพึ่งพาตนเองอย่างมาก

นิทรรศการดังกล่าว กำหนดจัดขึ้น ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 2 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2562 โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าร่วม นิทรรศการดังกล่าวจะทำให้ผู้รับชมมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงเฉพาะชีวิตและผลงานของคานธีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงแนวคิดทางปรัชญาแห่งการพึ่งพาตนเอง การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับหลักธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายด้วย

เปิดให้เข้าชมทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐น.
ปิดให้บริการ เสาร์,อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ : นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Exhibition date: 
3 Oct 2019 - 09:00 to 12 Nov 2019 - 17:00