^ Back to Top

นิทรรศการ "มนุสสานัง : Manussanung"

นิทรรศการ "มนุสสานัง : Manussanung"

นิทรรศการ "มนุสสานัง : Manussanung" ผลงานโดยศิลปิน 31 ท่าน จัดแสดงระหว่างวันที่ 12 มกราคม - 10 มีนาคม 2562 และจะมีพิธีเปิดในวีนที่ 12 มกราคม 2562 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย : MOCA Museum of Contemporary Art

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)เรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนิทรรศการ "มนุสสานัง : Manussanung" และร่วมฟังธรรมบรรยาย โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ต้อนรับศักราชใหม่ ในหัวข้อ "มนุสโสสิ : Are you human being?" ในวันเสาร์ ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 14.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย

มนุสสานัง Manussanung

คำว่า มนุสสานัง เป็นภาษาบาลีที่มักพบในบทสวดมนต์ ในพิธีกรรมในทางพุทธศาสนา หมายถึง แห่งมวลมนุษย์ มีรากศัพท์มาจาก มนุสฺส (manussa) หมายถึง ผู้มีจิตใจสูง เช่นเดียวกับคำว่า มนุษย์ ซึ่งคนไทยนิยมใช้ในภาษาพูดและภาษาเขียน มีมิติทางความหมายในเชิงพุทธปรัชญา ผสานสัมพันธ์กับความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาล แตกต่างกับคำว่า “คน (human)” ซึ่งเป็นความหมายที่อ้างอิงในเชิงพันธุกรรมในเชิงวิทยาศาสตร์

”กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก" เป็นธรรมบทที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เมื่อกว่า 2600 ที่แล้ว 
ดังนั้นเพื่อให้เห็นแจ้งถึงอัตถภาพของร่างกาย และการเป็นผู้มีจิตใจสูงนั้น ในมนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์นี้จึงแบ่งมนุษย์ ออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

1.มนุสสนิรโย ( มนุษย์สัตว์นรก) 
มนุษย์ผู้ดุร้าย หยาบคาย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจี้ปล้นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยฆ่าเจ้า ทรัพย์ตายบ้าง ทุบตีจนบาดเจ็บสาหัสบ้าง ข่มขืนแล้วฆ่าบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นทรมานผู้อื่นสัตว์อื่น เป็นคนไร้ศีลธรรม ไม่มีมนุษยธรรมคือศีล 5 ประจำตัวเลย นามว่า มนุสสเนรยิโก แปลว่า มนุษย์สตว์นรกคือเป็นมนุษย์แต่ชื่อ ส่วนความประพฤติทางกาย วาจา ใจนั้นเลวทราม ดุร้ายหยาบคายเหมือนสัตว์นรกฉะนั้น

2. มนุสสเปโต(มนุษย์เปรต) 
มนุษย์ผู้มากไปด้วยความโลภ มากไปด้วยตัณหา ชอบลักเล็กขโมยน้อยโลภเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน แย่งชิงวิ่งราวเป็นต้น จิตใจมีแต่ความตระหนี่ถี่เหนียว ยอมละทิ้งความดี ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ คนที่ยอมทำชั่วแลกเงิน ยอมทุจริตชาติบ้านเมือง คดโกงประเทศชาติเพื่อให้ได้มาในผลประโยชน์ก็จัดเป็นมนุษย์ประเภทนี้

3. มนุสสอสุรกาโย (มนุษย์อุสรกาย) 
มนุษย์ผู้จิตใจโหดร้าย เต็มไปด้วยโทสะ ความพยาบาทชิงชัง ทำชั่วอำมหิตไร้ความปราณีมีพฤติกรรมเหมือนยักษ์เหมือนมาร ใช้ความรุนแรง กักขฬะ หยาบคาย ใจไม้ไส้ระกำ นอกจากนั้นพฤติกรรมส่วนตัวยังชอบกินของแปลก หรือ กินของดิบ ของคาวสดๆ ได้เป็นวิสัย มัวเมาในกามารมณ์เกินปกติ เป็นนักเลงพนัน นักเลงนารี นักเลงสุรา หรือเป็นได้ทั้งสามอย่างครบในตัวคนๆ เดียว

4. มนุสสติรัจฉาโน (มนุษย์เดรัจฉาน )
มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน ได้แก่มนุษย์ทีขวางศีลขวางธรรม มีโมหะคือความหลงมาก ไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จักโทษ ไม่รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น

5. มนุสสมนุสโส (มนุษย์แท้ )
คือทั้งตัวและใจเป็นมนุษย์ มนุษย์แปลว่าผู้มีจิตใจสูง คือจิตสูงกว่าสัตว์นรก เปรต อสุรกายและเดรัจฉาน มีความเมตตาแยกแยะดีชั่วได้ เป็นผู้ตั้งมั่นในศีล 5 ได้อย่างมั่นคงเพราะศีล 5 เป็นธรรมพื้นฐานของคนที่เป็นมนุษย์ได้ แต่ก็มีโอกาสตกต่ำลงได้หากถูกชักจูงไปในทางที่ผิด หรือคบบาปมิตรเป็นเพื่อน

6. มนุสสเทโว (มนุษย์เทวดา)
หรือมนุสฺสเทโว หรือ มนุษยเทพ หมายความว่า คน เป็นมนุษย์ แต่ประพฤติดีประพฤติชอบ ทำตนให้เป็นเทพโดยสมมติ และทำตนให้เป็นเทพโดยอุปบัติ จนถึงประพฤติตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า วิสุทธิ์เทพ, รวมทั้ง ๓ เรียกว่า มนุสฺสเทโวมนุษย์เทพ หรือ มนุษย์เทวดา

7. มนุสสอริโย (มนุษย์ผู้เป็นอริยบุคคล )
บุคคลประเภทนี้มีน้อยที่สุดในโลกมนุษย์ คือกายเป็นมนุษย์ แต่ใจนั้นเป็นพระอริยะเจ้า คือจิตมีความตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีให้ครบเพื่อบรรลุธรรมหรือหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดให้ได้ มีความสามารถปฏิบัติธรรมได้ดีกว่าคนทั่วไป เมื่อปฏิบัติธรรมจนถึงระดับหมดกิเลส ไม่มีความโลภ โกรธ หลงเหลืออยู่ในจิตใจเลย ก็จะมีจิตเหนือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เป็นอิสระจากโลกธรรมทั้ง 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ได้ สามารถสั่งสอนให้คนอื่นรู้ตามที่จะหลุดพ้นไปด้วย ซึ่งบุคคลที่เป็นอริยบุคคลนี้โดยพื้นฐานทางกรรมในอดีตชาติแล้วได้บำเพ็ญบารมีมาดี จนสามารถกลับมาบำเพ็ญบารมีในชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายได้ ก่อนจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไป

ด้วยเหตุแห่งปรัชญาที่แยบยลนี้ทำเกิดการการหล่อหลอมเป็นประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น มีรูปแบบที่น่าค้นหาภายใต้คติความเชื่อที่แตกต่าง ก่อเกิดการสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่มีความหลากหลาย กลายเป็นมนต์เสน่ห์ของอารยธรรม ซึ่งนานาอารยประเทศควรจะได้สัมผัสเรียนรู้ อีกทั้งจะได้ซาบซึ้ง และประจักษ์ถึงคุณค่าที่มีลักษณะเฉพาะนี้ผ่านผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย

นิทรรศการ “มนุสสานัง” จึงเป็นหนึ่งนิทรรศการศิลปกรรมที่สะท้อนความหลากหลายของความเชื่อ ความศรัทธา ปัจเจกภาพแห่งจินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด ของเหล่าศิลปินชั้นนำหลายวัยวุฒิ 31 ศิลปิน ด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตนของศิลปินแต่ละท่านอันโดดเด่นนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าน่าจะเป็นแนวทางอันสำคัญสำหรับการศึกษาศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเข้าใจ เข้าถึง กระทั่งก่อเกิดความซาบซึ้ง และสามารถนำสุนทรียภาพแห่งศิลปะที่ทรงคุณค่านี้ไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตได้ไม่มากก็น้อย

Exhibition date: 
12 Jan 2019 - 11:00 to 10 Mar 2019 - 18:00