พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย : MOCA Museum of Contemporary Art
สาส์นจากผู้ก่อตั้ง
กว่าสามทศวรรษที่ผมเฝ้ามอง และศึกษาการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาของวงการศิลปะอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจของประเทศเรา ผมพบว่าศิลปะของไทยผูกพันกับพระพุทธศาสนาทั้งในหลักคิดและการปฏิบัติอย่างแน่นแฟ้น เรียกว่าอยู่ในสายเลือดเลยก็ได้ ตั้งแต่เยาว์วัยเราซึมซับความวิจิตรงดงามของศิลปะผ่านผลงานพุทธศิลป์ เริ่มตั้งแต่ พระพุทธรูปในบ้านที่เรากราบไหว้อยู่ทุกวัน รวมไปถึงความงดงามทางสถาปัตยกรรมของวัดวาอาราม ไล่มาตั้งแต่ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ บนหลังคาโบสถ์ลายแกะสลักตามบานประตูและหน้าต่าง ไปจนถึงงานจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพพระบฏในวัด เล็กๆตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
จริงอยู่ที่สังคมอริยะทุกสังคมในโลกนี้เริ่มทำงานศิลปะด้วยหลักการเดียวกัน แต่ศิลปินไทยสามารถนำหลักธรรมมาขยายความต่อด้วยศิลปะอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางด้านจิตรกรรม วัฒนธรรมประเพณี อีกทั้งความเชื่อของสังคมไทยได้รับการสะท้อนผ่านงานศิลปะอย่างชัดเจน พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยของเราพยายามรวบรวมงานจิตรกรรม และประติมากรรมร่วมสมัยในรอบเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อนำเสนอให้แก่ผู้เข้าชม โดยหวังที่จะสร้างทั้งปัญญาและความบันเทิงอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกัน เราหวังจะสร้างความประทับใจให้ประชากรโลกที่ตัดสินใจมาเยี่ยมบ้านเมืองของเรา ด้วยการเชื่อมโยงความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ ที่เขาเคยสัมผัสให้มารวมอยู่ในงานจิตรกรรม ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ผลงานศิลปะที่ท่านผู้ชมได้เห็นได้ชื่นชมจำนวนมาก เกิดจากแรงผลักดันของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ผู้มาขัดเกลาและดึงศักยภาพของลูกศิษย์แต่ละร่นให้เฉิดฉายออกมา ศาสตราจารย์ ศิลป์ ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวและพัฒนาความคิดของลูกศิษย์ผู้มีพื้นฐานมาจากความเป็นไทยอันงดงาม ก่อให้เกิดเป็นงานศิลปะร่วมสมัยซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ
ตลอดชีวิตความเป็นครู ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจให้กับลูกศิษย์ ท่านเป็นทั้งพ่อเป็นทั้งครู ขณะเดียวกันท่นก็ต้องต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคส่วนตัว ทั้งเรื่องสุขภาพ และการทำงานกับข้าราชการไทยบางกลุ่ม เนื่องจากท่านเป็นชาวอิตาเลี่ยนที่มาทำงานในเมืองไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราจึงพร้อมใจกันเชิดชูท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้เป็นบิดาแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย พวกเราหวังว่าก้าวแรกของพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยจะเป็นกำลังใจให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะทุกแขนงของไทยให้มาผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างบ้านเมืองของเราให้เป็นศูนย์กลางของศิลปะที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่ยอมรับของโลกต่อไป
ด้วยความเป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ในวงการศิลปะของโลก เราจึงพยายามถ่ายทอด ร้อยเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ร่วมสมัยในบ้านเมืองของเราในช่วงเวลาต่างๆ เริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ 2475 จวบจนถึงปัจจุบัน ช่วงเวลานี้น่าจะถือเป็นยุคที่วงการศิลปะไทยขาดการสนับสนุนจากทางราชการอย่างสิ้นเชิง เพราะความผันแปรทางการเมืองมีสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ศิลปินใหญ่น้อยต้องดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในสังคมที่วุ่นวาย และหาจุดยืนให้ตัวเองเพื่อให้ได้ทำงานตามความรัก ความชอบ งานนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ของเราจะยืนยันถึงความมุ่งมั่นของศิลปินไทยในการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยอย่างเหนียวแน่นตลอดแปดสิบปีที่ผ่านมา
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA BANGKOK (โมค่า แบงคอก) แห่งนี้จะสามารถนำองค์ความรู้ของโลกศิลปะ มาสร้างความเพลิดเพลินและความสุนทรีย์ให้แก่ผู้ชมทุกท่าน หากมีสิ่งอันใดที่ไม่ถูกต้อง หรือมีความบกพร่องอย่างไร เรายินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกท่านเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข เราจะพัฒนาคุณภาพของงานนิทรรศการของเราต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเติมเต็มความงดงามให้โลกใบนี้และเพื่อให้งานศิลปะอยู่กับโลกของเราไปอีกนานแสนนาน
พิพิธภัณฑ์เพื่อคนไทย เพื่อแผ่นดิน
พิพิธภัณฑ์กับการส่งเสริมการมีงานทำแก่คนพิการ และความเท่าเทียมกันทางสังคม
นอกหนือจากความตั้งใจในการทำพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นองค์ความรู้แก่คนไทย และแสดงให้ชาวต่างชาติตระหนักถึงศิลปะที่แสดงออกซึ่งเอกลักษณ์และรากเหง้าแห่งความเป็นไทยแล้ว ความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคมด้านอื่นๆของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยมีนโยบายในการส่งเสริมการมีงานทำแก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง ถือเป็นการสนองนโยบายแผ่นดินในการส่งเสริมกิจกรรมคนพิการภายใต้พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พุทธศักราช ๒๕๓๔
ความเท่าเทียมกันทางสังคมเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณบุญชัย เห็นความสำคัญเช่นกันปัจจุบันพิพิธภัณฑ์รับพนักงานคนพิการปฏิบัติงานทำหน้าที่เป็นพนักงานนำชมพิพิธภัณฑ์ภาษามือ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าชมที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ผู้ซึ่งควรได้รับโอกาสในการชื่นชมสุนทรียภาพของงานศิลป์เช่นกัน
สถาปนิกและมัณฑนากร กับการออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย
แนวคิดเริ่มต้นจากที่คุณบุญชัยมีความประสงค์ให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากฝีมือสถาปนิกไทย ด้วยแนวคิดที่ว่าพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารเพื่อรองรับศิลปะที่มีความเป็นไทย และใช้วัสดุที่มีความคงทนคือ หินแกรนิต ทั้งก้อนมาแกะสลักด้วยความปราณีตเป็นลายก้านมะลิอันแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ประเด็นสำคัญอีกประการ คือการคำนึงถึงพื้นที่จัดแสดงและแสงที่ใช้เนื่องจากมีผลกระทบต้องานศิลปะ
พื้นที่จัดแสดงงานภายในกว่า 20,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย พื้นที่จัดแสดงงาน 5 ชั้นซึ่งติดตั้งนิทรรศกสนหมุนเวียน และนิทรรศการถาวร ศิลปะสื่อผสม และศิลปะจัดวาง รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับจัดการแสดง และจัดกิจกรรมด้วย
วันและเวลาทำการพิพิธภัณฑ์
วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. (หยุดทำการวันจันทร์)
วันและเวลาทำการสำนักงานพิพิธภัณฑ์
วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.30-18.00 น. (หยุดทำการวันจันทร์)
ขอบคุณสำหรับข้อมูล : พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย : MOCA BANGKOK
By car : From Vibhavadi-angsit Rd. heading north, turn left at Wat Samien Naree, then turn right driving along rialway passing one traffic light. MOCCA is on your left.
By BTS : Take "Mo Chit" exit then transit to public transportation.
By MRT : Take "Paholyotin" exit then transit to public transportation.