^ Back to Top

นิทรรศการ “ทรรศนะ - ไทย : Vision - Thai”

นิทรรศการ “ทรรศนะ - ไทย : Vision - Thai”

นิทรรศการจิตรกรรม “ทรรศนะ - ไทย : Vision - Thai” ผลงานโดย ขวัญชัย สินปรุ, ขจรเดช หนิ้วหยิ่น, จอมพล พัวทวี, ชลพรรษ แก้วใหม่, นพนันท์ ทันนารี, ปิ่นกมล แสงแก้ว, วราวัจน์ พิมพิสัย, วาทิตย์ เสมบุตร, หทัยรัตน์ รอดแก้ว, อดิศักดิ์ พัททองคำ, ออมสิรี ปานดำรง และ อิทธิพล พัฒรชนม์  จัดแสดงระหว่างวันที่ วันที่ 22 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2558 และจะมีพิธีเแิดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 2 Chamchuri Art Gallery : หอศิลป์จามจุรี

นิทรรศการ “ทรรศนะ - ไทย” (Vision - Thai)
ศิลปิน ขวัญชัย สินปรุ, ขจรเดช หนิ้วหยิ่น, จอมพล พัวทวี, ชลพรรษ แก้วใหม่
           นพนันท์ ทันนารี, ปิ่นกมล แสงแก้ว, วราวัจน์ พิมพิสัย, วาทิตย์ เสมบุตร
           หทัยรัตน์ รอดแก้ว, อดิศักดิ์ พัททองคำ, ออมสิรี ปานดำรง, อิทธิพล พัฒรชนม์
ลักษณะงาน   จิตรกรรม
ระยะเวลาที่จัดแสดง วันที่ 22 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2558
พิธีเปิดนิทรรศการ วันที่ 23 กรกฎาคม 2558
ห้องนิทรรศการ ห้องนิทรรศการชั้น 2
ติดต่อศิลปิน 089 909 4539 อิทธิพล, 089 435 9503 นพนันท์, 089 838 0468 จอมพล

แนวความคิด
ความเป็นเราที่สร้างความเป็นไทย
กฤษฎา  ดุษฎีวนิช

อาจมีคำกล่าวในลักษณะเชิงคำถามว่า “ความเป็นไทยคืออะไร” ซึ่งบ่อยครั้งที่เราตอบไปแบบใสซื่อบริสุทธิ์ ว่าความเป็นไทยคือ  “.....”  เเต่ในขณะเดียวกันในความนึกคิดเราก็ยังหาคำตอบที่เเน่ชัดไม่ได้เช่นกันว่าความเป็นไทยมันมีรูปร่างหน้าตาที่เเน่ชัดอย่างไร

หากกล่าวกันตามตัวบทความรู้ ความเป็นไทยได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อการรักษา/รวบซึ่งอำนาจบางอย่างไว้ให้อยู่ศูนย์กลางเพียงจุดเดียว เมื่อครั้งราวพุทธทศวรรษ 2400 ชนชาติตะวันตกได้โหมกระหน่ำเข้ามาสู่ดินเเดนสยามราวกับน้ำที่กำลังหลากมาจากป่าที่สูง ทั้งที่เราเชื้อเชิญ เเละไม่ได้รับเชิญ การเข้ามาของชนชาติตะวันตกในครั้งนั้นประเด็นหลักคือมาเพื่อค้าขายในช่วงเริ่มเเรก เเละต่อมาก็เป็นไปในทิศทางของการล่า/เเผ่อำนาจอณานิคม เเต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมากับชนชาติดังกล่าวนั้นคือ “วัฒนธรรม”

วัฒนธรรม/ความเป็นอยู่ที่เคยเป็นไปอย่างปกตินั้นดูเหมือนจะผิดเเปลกไป ความเป็นฝรั่งได้ถาโถมความเป็นอยู่เเละความรู้สึกนึกคิดบางอย่างของคนในชาติ จนสุดท้ายฝ่ายที่มีอำนาจในประเทศเกิดภาวะ
“กลัว”ที่จะสูญเสียบางอย่างไปจึงริเริ่มเกิดกระบวนการรักษาไว้ซึ่งการถ่วงดุลอำนาจบางอย่าง ด้วยการสร้างนิยาม/มโนทัศน์
“ชาติไทย”  เเละ “ความเป็นไทย” ขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ในชาติเเละวัฒนธรรมเสียใหม่ ทั้งนี้ความเป็นชาติไทย เเละความเป็นไทยก็ได้เติบโตมาในพื้นที่ของรัฐเพื่อรักษาซึ่งอำนาจต่างๆทางการเมืองเเละสถาบัน

ที่กล่าวมาข้างต้นคือการหาต้นต่อคร่าวๆของคำว่าความเป็นไทย หากเเต่ในเเวดวงศิลปะเเละวัฒนธรรมก็เช่นกัน ความเป็นไทยได้เกิดความเคลื่อนไหวเข้ามาสู่พื้นที่ของศิลปะเมื่อความรู้สึกตื่นรู้ว่าสิ่งต่างๆที่เรียกว่า “ศิลปะไทย” จะค่อยๆถูกความเป็นตะวันตกกลืนกิน สังเกตได้จากภาควิชาศิลปไทย ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม เเละภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อราวทศวรรษ 2520 ซึ่งเวลาค่อนข้างใกล้เคียงกับการเเสดงออกของศิลปะร่วมสมัยได้เบ่งบานจนถึงขีดสุด ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นสิ่งที่เรียกชินปากว่าศิลปะสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในไทยได้กำลังจะเเปรเปลี่ยนไปสู่พื้นที่ของศิลปะหลังสมัยใหม่/ร่วมสมัย โดยเริ่มมีการปรากฏขึ้นของผลงานศิลปะประเภทจัดวางโดย กมล ทัศนาชาลี ที่จัดเเสดงผลงานศิลปะจัดวางที่เคยเเสดง ณ ประเทศอเมริกามาจัดเเสดงย้อนหลัง ณ หอศิลปเเห่งชาติ เจ้าฟ้า ซึ่งในขณะนั้นความเป็นตะวันตกของศิลปะร่วมสมัยได้เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเต็มตัว

ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวอาจนับได้ว่าคือจุดเริ่มต้นของการหานิยามใหม่ของคำว่าศิลปไทยอีกครั้งที่น่าสนใจ ซึ่งมิได้อิงเเอบกับลวดลายไทยที่ประดับประดาอยู่เพียงเเค่วัดวัง(ฝีมือทางช่าง) ศิลปไทยที่เกิดขึ้นนี้คือการ “...สืบทอดจากภูมิปัญญา คติความเชื่อที่เป็นจุดเริ่มต้นเเก่งานศิลปไทย เเละนำไปสู่การค้นคว้าทดลอง การแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความคิด รูปแบบ และวิธีการแสดงออก เพื่อหาแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปไทยขั้นสูงเฉพาะบุคคล ทั้งในแนวอนุรักษ์ตามคตินิยมและการสร้างสรรค์ศิลปไทยในแนวทางใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบัน...” ซึ่งความเป็นไทยดังกล่าวนี้คือการหานิยามสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ ผู้คนเเละเวลาในปัจจุบัน

ทรรศนะ ไท-ย ความเป็นอิสระจากความเป็นไท๊ยไทย
หากกล่าวถึงงานศิลปะที่บ่งบอกอะไรบ่างอย่างที่มีความเป็นไทย ใครหลายๆคนอาจจะนึกถึงผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ หรือเรื่องราววิถีชีวิตสมัยก่อนที่ออกไปในทางวัฒนธรรมเเบบจารีตนิยมประเพณี ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะมโนทัศน์ความเป็นไทยที่เรารับรู้ตามสื่อต่างๆก็ออกมาในทิศทางดังกล่าว เเต่คำว่าความเป็นไทยเเท้จริงเเล้วมีจริงหรือ หากเราเดินอยู่ในท้องทุ่งชนบทภาพความงดงามจากท้องทุ่งดังกล่าวนั้นสรรค์สร้างออกมาเป็นผลงานศิลปะจะนับว่าผลงานดังกล่าวนี้มีความเป็นไทยหรือไม่ เพราะภาพทุ่งกว้างดังกล่าวพม่า ลาว หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆก็คงมีไม่เเต่ต่างกัน ทั้งนี้สิ่งที่เเบ่งเเยกเเละสามารถเเสดงตัวออกมาว่าในผลงานดังกล่าวนี้มีความเป็นไทยหรือไม่นั้นอาจอยู่ตรงที่ “ผู้สร้างสรรค์” ว่ามีความคิดอย่างไรกับภาพทุ่งกว้างที่เรียบสงบสวยงามเหล่านั้น

ความคิดที่บันทึกเรื่องราวของชีวิต เเละสิ่งเเวดล้อมรอบข้างนี้เองจะเป็นสิ่งที่บอกว่าผลงานนี้มีกลิ่นอายของความเป็นไทยหรือไม่ ศิลปะคือเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถบันทึก/สะท้อนเรื่องราวทางสังคม เเละเรื่องราวหรือสังคมอะไรนั้นก็คือความคิดที่ศิลปะจับใส่ลงมาในภาพผลงาน ไม่ต่างกับภาพท้องทุ่งของ นพนันท์ ทันนารี ที่ในผลงานล้วนเเสดงอารมณ์ของความนิ่งเเละเงียบสงบของชนบทไทย ซึ่งในผลงานก็มิได้มีอะไรมากมายมายไปกว่าพื้นที่ว่างเเละสัจจะทางธรรมชาติที่ผนวกกับความคิด ผลงานนี้นับว่าเป็นผลงานศิลปไทยที่ไร้ซึ่งเขตเเดนที่มีอิสระเเละเสรีภาพทางความคิดอ่าน เเต่ก็สามารถบันทึกเรื่องราวที่คลุกรุ่นความเป็นไทยได้อย่างน่าชื่นชม

เเละอีกตัวอย่างที่สุดขั้วในนิทรรศการดังกล่าวนี้คือผลงานของ ขวัญชัย สิบปรุ ที่ประดิษฐ์ผลงานศิลปไทยในทิศทางที่ดูเเตกต่างออกไปจากขนบเดิม ซึ่งเป็นผลงานจิตรกรรมที่มีที่มาจากแรงเสียดทานทางสังคม ศิลปะได้ทำหน้าที่วิพากษ์สังคมโดยหยิบยืมกลิ่นอายเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาสอดเเทรกในการเเสดงออก อย่างไรก็ตามผลงานก็มีบทบันทึกในความคิดอ่านของศิลปินอยู่อย่างน่าสนใจซึ่งก็ไม่ซ้ำซากจำเจในวิถีการเเสดงออกของศิลปไทยในเเบบดั่งเดิม

เเละยังอีกทั้งผลงานศิลปะวีดีโอจัดวางของ ออมสิรี  ปานดำรงค์ ที่ภาพลักษณ์ของผลงานดูเหมือนจะสลัดภาพลักษณ์ความเป็นไทยเสียหมดสิ้น มีเพียงเเต่ภาพวิถีชีวิตปัจจุบันที่ธรรดามิได้มีการประดิษฐ์คิดฝันเรื่องราวใดๆมากมายเหมือนศิลปไทยในอดีตที่เคยเป็นมา หากเเต่ในความคิดที่สอดเเทรกไปในผลงานอุดมไปด้วยสัจจะของสังคมที่กล่าวถึงความเป็นสตรีเพศที่ยังคงพรางกายในสังคมไทย

ทั้งนี้ในนิทรรศการ “ทรรศนะ ไทย( vision thai) ” ได้ฉายภาพของอิสระภาพในความเป็นศิลปไทยได้อย่างน่าสนใจ ความเป็นไทยที่ถูกตีความผ่านความหลากหลายของศิลปินที่ปรากฏอยู่นั้นสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของวงการศิลปไทยร่วมสมัยว่าเดินไปทางไหน เเต่ในทุกๆการก้าวเดินล้วนมีความน่าสนใจในมิติของความพยายามที่จะก้าวข้าม ถึงเเม้จะไม่มากมาย เเต่ก็ยังสามารถพบเห็นได้ในนิทรรศการ

ในท้ายนี้ ความเป็นศิลปไทยคืออะไร ? คำตอบอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเเค่หนึ่งเดียว ศิลปไทยอาจเป็นผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อเป็นบทบันทึกหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งมิได้โหยหากลับไปครั้งอดีต เเต่สามารถเล่าเรื่องราวสัจจะของสังคมที่มีพร้อมไปด้วยเสรีภาพทางการเเสดงออก ศิลปะกับเสรีภาพนั้นคงเป็นของคู่กันซึ่งลาจากกันไม่ได้ การปลดพันธนาการจากสิ่งที่เคยทำกันมาอย่างช้านานเเละมุ่งไปสู่สิ่งใหม่ข้างหน้านั้นมีความจำเป็นอย่างมากในพัฒนาการของศิลปะ หากเเต่การที่จะกระโดดก้าวไปข้างหน้านั้นเราเองก็ไม่ควรลืมกำพืดตัวเองว่าเราเป็นใคร เเละใช้สิ่งที่เรามีสิ่งที่เราเป็นอยู่นั้นเป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะก้าวออกไปสู่สากลอย่างสง่างามเเละอย่าง “ศิวิไลซ์”
เปิดให้เข้าชมทุกวัน   จันทร์ – ศุกร์  เวลา 10.00 – 19.00น.  
เสาร์,อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 12.00 – 18.00น.
ปิดให้บริการในเทศกาลวันปีใหม่และวันสงกรานต์

ข่าวประชาสัมพันธ์ : Chamchuri Art Gallery : หอศิลป์จามจุรี

Exhibition date: 
22 Jul 2015 - 10:00 to 18 Aug 2015 - 19:00