นิทรรศการ "ภาพพิมพ์ พิมพ์ภาพ : print make print"
นิทรรศการ "ภาพพิมพ์ พิมพ์ภาพ : print make print" ผลงานโดย ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์ (Trirat Sriburin) จัดแสดงระหว่างวันที่ 6 -29 มีนาคม 2558 และจะมีพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม 2558 เวลา 18.00 น. โดยผู้อำนวยการสำนักศิลปะร่วมสมัย (ชาย นครชัย) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้องนิทรรศการ 1 - 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
ผลงานชุด ”ภาพพิมพ์ พิมพ์ภาพ” ได้นำเสนอภาพของมุมมองของข้าพเจ้าที่มีต่อภาพของวิถีชีวิตที่ข้าพเจ้า ได้เคยอาศัยอยู่และกำลังอาศัยอยู่ในปัจจุบันซึ่งประเด็นหลักของผลงานชุดนี้เกิดจากการที่ผู้คนในชนบท(ต่างจังหวัด) มีค่านิยมเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเมือง(กรุงเทพฯ)ที่ข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพของ สถานที่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยผลงานของข้าพเจ้าได้บันทึกภาพของช่วงเวลาหลักๆเป็นสองช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ ณ ขณะนั้น
ช่วงเวลาแรกคือ ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ในวิถีชีวิตเมืองชนบท (ต่างจังหวัด) ซึ่งเป็นภาพที่ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอมุมของวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทในช่วงนั้นผ่านทางภาพของ บ้านไม้ มุมของเมืองชนบท มุมที่มีที่มีข้าวของอุปกรณ์ ยานพาหนะของผู้คนที่มีรายได้น้อยที่ใช้ทำมาหากินซึ่งเป็นภาพที่ดูหยุด นิ่ง สงบ เงียบเหงา เนื่องจากการคนในชนบทนั้นมีค่านิยมที่ต้องเดินทางเข้ามาในสังคมเมือง (กรุงเทพฯ) เมื่อผู้คนส่วนใหญ่คิดเช่นนั้นจึงต่างพากันย้ายที่อยู่หรือย้ายมาอาศัยอยู่ในสังคมเมือง (กรุงเทพฯ) ทำให้สังคมในชนบทดูเงียบเหงาขึ้นทุกวันๆ
ช่วงเวลาที่สองเป็นภาพที่ข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดภาพของสังคมเมือง (กรุงเทพฯ) ที่ข้าพเจ้าได้เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ซึ่งเป็นสังคมที่วุ่นวาย ที่เต็มไปด้วยผู้คนแออัด การจราจรติดขัด และอึกกระทึกครึกโครมไปด้วยแสง สี เสียง แต่ข้าพเจ้ากลับถ่ายทอดภาพออกมาให้เป็นภาพเมืองที่ดูเงียบ เหงา อ้างว้าง ดูรกร้าง เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่าผู้คนในสังคมเมืองมีวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ไม่สนใจแม้กระทั่งผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันการที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในสังคมเช่นนี้ได้เดินทางไปไหนมาไหนในสังคมเมืองนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนการได้อยู่คนเดียว ข้าพเจ้าเลยถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่เป็นเมืองร้างไร้ผู้คน และจากการที่ปัจจุบันผู้คนได้อพยพเข้ามาในสังคมเมืองมากๆทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะปัญหาที่อยู่อาศัย เนื่องจากจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่พื้นที่ในสังคมนั้นจะรองรับได้จึงทำให้เกิดปัญหาสังคมแออัด และเพื่อให้พื้นที่ที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการของประชากร การจัดการเรื่องพื้นที่จึงเกิดขึ้นคือ การสร้างที่อยู่อาศัย “บ้าน” ที่มีรูปแบบเป็นลักษณะ “ตึก” ขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าและเพียงพอต่อจำนวนประชากรที่ต้องการเข้ามาอาศัยอยู่ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนเหล่านี้ต้องเข้ามาอาศัยอยู่ใน “บ้าน” หรือ ที่เรียกว่า “ตึก” ซึ่งมีพื้นที่เพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า “บ้าน” สถานที่ที่รวมทุกๆอย่างของวิถีชีวิตไว้ กลับกลายเป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆที่มีพื้นที่อันจำกัดที่ต้องรวบรวมทุกอย่างของวิถีชีวิตไว้
ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ผลงานชุดเพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสภาพแวดล้อมของสังคมเมืองในชนบท(ต่างจังหวัด) และสภาพของเมือง(กรุงเทพฯ) รวมไปถึงที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า “บ้าน” ของคนในสังคมเมืองที่อาศัยอยู่กันในรูปแบบของ “ตึก” ที่มีรูปแบบของบ้านไปสู่กล่องเล็กๆที่ซ้อนกันอยู่ที่เรียกว่าแฟลต หรือ คอนโด และยังรวมไปถึงความเป็นอยู่ของบ้านแต่ละหลัง ห้องแต่ละห้อง โดยสภาพของกล่องแต่ละใบก็ดูเหมือนจะมีสภาพที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดหรือเวลาใดก็ตาม
ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์