^ Back to Top

นิทรรศการศิลปะ "ผู้ชายบ้าของเล่น"

นิทรรศการศิลปะ "ผู้ชายบ้าของเล่น"

นิทรรศการศิลปะ "ผู้ชายบ้าของเล่น" ผลงานโดย ธีรพล หอสง่า, วิวัฒน์ ภักดีธรรมาภรณ์, ธนรัช สิริพิเดช และเจตน์สฤษฎิ์ แก้วรากมุข คัดสรรโดย ดร.เตยงาม คุปตะบุตร จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 - 28 มิถุนายน 2557 ณ People's Gallery P1-P3 ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : bacc

"ผมไม่เคยเลิกเล่น"  

นิทรรศการ "ผู้ชายบ้าของเล่น" ถือว่าเป็นการรวมตัวกันของศิลปินรุ่นใหม่สี่คนที่ชื่นชอบ Kinetic Art   Kinetic Art เป็นคำที่ถูกใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1954  หมายถึง ผลงานศิลปะที่มี "ความเคลื่อนไหว" เป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าความเคลื่อนไหวนั้นจะรับรู้ได้ด้วยตาเปล่า หรือ รู้สึกราวกับว่ามันเคลื่อนไหวได้   เช่น ผลงานของ ฺBridget Riley เป็นงานจิตรกรรมสองมิติ  ทำปฏิกิริยากับการมองเห็นของมนุษย์  ทำให้ดูราวกับว่ารูปทรงเรขาคณิตบนผ้าใบเคลื่อนไหวได้  สำหรับผลงานที่เคลื่อนไหวได้จริง ก็มักถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงาน ซึ่งอาจจะเป็นพลังงานธรรมชาติหรือพลังงานไฟฟ้าก็ได้   ศิลปินยุคแรกๆได้แก่ George Rickey และ Alexander Calder เป็นต้น 

ธีรพล หอสง่า วิวัฒน์ ภักดีธรรมาภรณ์  ธนรัช สิริพิเดช และเจตน์สฤษฎิ์ แก้วรากมุข ได้ทำให้ความหมายของ Kinetic Art ขยับออกไปจากความหมายเดิม   พวกเขาทำให้ผลงาน หรือ อีกนัยหนึ่ง "ของเล่นที่ขยับได้" ของพวกเขาสามารถเชื่อมสัมพันธ์กับคนดู  ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นที่เอาไว้เล่นเพียงคนเดียว แต่เป็นของเล่นที่เชื่อมสัมพันธ์ทางกายภาพและจินตนาการกับคนดู   นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังได้ทำให้ Kinetic Art ของพวกเขาผสมผสานกับความรู้ชุดอื่นๆ  เราลองมาชมว่าผลงานของพวกเขากันดีกว่า 

ธีรพล หอสง่าสร้าง "แมลงขี้อาย" (2557) เพื่อให้คนดูได้เดินไปดักหน้าดักหลังแมลงเหล่านี้ ทุกครั้งที่มีคนเข้าใกล้ พวกมันก็จะขี้อาย ไต่ราวหนีทันที  ธีรพลได้ผนวกเอาความรู้ ด้าน Robot Art ในการสร้างผลงาน เราสามารถสืบค้นรากของ Robot Art ได้จาก Automata ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่ประวัติศาสตร์ก่อนยุคสมัยอาณาจักรโรมันเลยทีเดียว   ว่ากันว่า Automata ตัวแรกคือ อดัมซึ่งถูกสร้างโดยพระเจ้า   พระองค์สร้างอดัมจากฝุ่นดินเสร็จภายในห้าชั่วโมง   Automata จึงหมายถึง หน่วยที่สามารถสั่งการและทำงานได้ด้วยตัวเอง   “แมลงขี้อาย” ของธีรพลนิ่งไม่ไหวติ่ง  นิ่งราวกับว่าพวกมันไม่มีชีวิต  และเมื่อเราเดินเข้าใกล้  มันก็ตัดสินใจไต่หนีทันที แมลงเหล่านี้ถูกสร้างจากกฎง่ายๆสองข้อ ได้แก่ “หยุด” เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน และ “หนี” เมื่อมีคนหรือวัตถุเข้ามาใกล้   Automata ขี้อายเหล่านี้ อาจจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ตัดสินใจในเรื่องกฏศีลธรรมแบบอดัม  แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ กรุะตุ้นความอยากเล่นในตัวผู้ชมทุกคน  เปลี่ยนผู้ชมให้เป็นผู้เล่นนั่นเอง 

วิวัฒน์ ภักดีธรรมาภรณ์ สร้าง "In the Park" (2013) เพื่อให้คนดูได้ "เล่น" กับของเล่นขนาดใหญ่  "In the Park" เชิญชวนให้คนดูขึ้นไปวิ่งบนลู่วิ่งเพื่อขับเคลื่อนเจ้าตัวเงินตัวทองให้ เคลื่อนไหว ยิ่งเราวิ่งเร็วเท่าไหร่ ตัวเงินตัวทองก็เคลื่อนไหวเร็วขึ้นเท่านั้น  ราวกับว่า เรากับตัวเงินตัวทองกำลังจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน เคลื่อนไหวไปพร้อมๆกัน จังหวะเดียวกัน  นี่เป็นวิธีการที่วิวัฒน์เอาชนะความกลัว ความวิตกกังวลต่อหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต  รวมถึงเจ้าตัวเงินตัวทองด้วย   เขาจึงตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ามัน  เฝ้าสังเกตมันเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม  จนกระทั่งรู้จักนิสัย พฤติกรรม และกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมันเป็นอย่างดี เขาได้เอาการสังเกตการณ์เชิงชีววิทยานี้มาใช้ในการสร้างงาน ซึ่งดูได้จากการเคลื่อนไหวของงาน ที่สอดคล้องกับกิริยาการว่ายน้ำของตัวเงินตัวทอง พื้นผิวของตัวผลงานที่ถูกประดับไปด้วยเลื่อม อันเกิดจากความเข้าใจในผิวหนังที่มีสีเหลือบและมีจังหวะตะปุ่มตะป่ำไม่เท่า กัน

ธนรัช สิริพิเดชสร้าง "How to be myself" (2013) และ “When did we grow old?” (2013) เพื่อนำเสนอว่า วัตถุสามารถนำเสนอสภาวะอารมณ์ของเขาได้  ผู้ชายมักจะเก็บอารมณ์ความรู้สึก และสงวนคำพูด  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายไม่ต้องการสื่อสาร   โฮโมเซเปียน (Homosapien) ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย สื่อสารอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  การเกาหัวถือเป็น “สื่อ” (Signifer) ประเภทหนึ่งที่ส่ง “สาร” (Signified) ออกไป เช่น เบื่อหรือเซ็ง   ธนรัชเลือกเครื่องมือช่างที่คุ้นชิน ได้แก่ เครื่องเจียร์ และ ประแจในฐานะ “สื่อ” ที่ต้องการส่ง “สาร” อันแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสับสนของการเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิต จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน และ ความรู้สึกประหม่าเมื่อถูกจับจ้องโดยสายตาจากคนที่ไม่รู้จัก เราอาจจะต้องค่อยๆเข้าไปเพื่อสังเกตปฏิกิริยาของวัตถุที่กำลังขยับเพียงเล็ก น้อย ห้ามกระโตกกระตาก ไม่เช่นนั้น เราอาจะไม่สามารถรับรู้ถึง “สาร” ที่ธนรัชกำลังบอกเรา 

เจตน์สฤษฎิ์  แก้วรากมุข สร้าง "Special Morning" (2013) เพื่อให้คนดูรับรู้ว่า การเคลื่อนไหวของวัตถุสามารถพาเขาย้อนอดีตได้  เขาประสมความทรงจำของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กัน  เก้าอี้โยกและเสียงช้อนกาแฟกระทบกับแก้วใน "Special Morning" เป็นหลักฐานที่เขาได้ย้อนระลึกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อ  เขาจำเป็นภาพได้ว่า พ่อมักพามานั่งเก้าอี้หน้าบ้านแล้วป้อนข้าวคำโตก่อนไปโรงเรียน และ เมื่อโตขึ้น เสียงช้อนโลหะกระทบแก้วของพ่อพร้อมกลิ่นหอมของกาแฟมักทำให้เขาตื่นนอน  เมื่อเหตุการณ์หนึ่งๆถูกบันทึกในหน่วยความทรงจำ  โดยที่หน่วยความทรงจำก็ได้บันทึกเหตุการณ์อื่นๆก่อนหน้านั้นแล้ว  เหตุการณ์นั้นๆเมื่อถูกเก็บนานวันเข้า ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะผสมหลอมรวมกับเหตุการณ์อื่นๆ  เมื่อเจ้าของหน่วยความทรงจำเรียกเหตุการณ์นั้นๆกลับมาอีกครั้ง  มันก็มักดึงเอาเหตุการณ์อื่นๆขึ้นมาด้วย  "Special Morning" แสดงให้เห็นว่า เมื่อเหตุการณ์ป้อนข้าวถูกเรียกกลับมา มันได้ดึงเอาการชงกาแฟของพ่อขึ้นมาด้วย ผลงานได้แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ทั้งสองผสมหลอม จนเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร

ผู้ชายไม่เคยหยุดเล่น เพราะการเล่นเป็นการ “สื่อ” ถึง “สาร”ของพวกเขา   ผลลัพธ์ที่พวกเขาพึงปราถนาจากการยื่นของเล่นให้ คือ การเล่นกลับของผู้ชม  เรามาสื่อสารด้วยการเล่นกันเถิดครับ

เตยงาม คุปตะบุตร

Exhibition date: 
3 Jun 2014 - 10:00 to 28 Jun 2014 - 21:10