^ Back to Top

นิทรรศภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญวัดรวกบางบำหรุ

นิทรรศภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญวัดรวกบางบำหรุ

นิทรรศภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญวัดรวกบางบำหรุ โดยภาพจิตรกรรมทั้งหมดเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เทคนิคโบราณ จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 27 เมษายน 2557 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า

นิทรรศการพิเศษ ระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม - ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗

ภาพจิตรกรรมชุดนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ในคลังศิลปวัตถุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ปีที่เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานห่งชาติ หอศิลป โดยภาพจิตรกรรมทั้งหมดเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี ด้วยเทคนิคโบราณ คือ สีฝุ่นบนแผ่นไม้ ในทะเบียน ระบุรายละเอียดของศิลปวัตถุชุดนี้ว่า “ภาพจิตรกรรมบนไม้วัดรวกบางบำหรุ” และระบุที่มาว่า “ย้ายมาจากศาลาการเปรียญวัดรวก บางบำหรุ กรุงเทพฯ” มีจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ บาน โดยไม่ได้เรียงลำดับและระบุเรื่องราวที่เขียนบนแผ่นไม้เอาไว้อย่างชัดเจน และไม่เคยนำมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน เมื่อสืบประวัติถึงศาลาการเปรียญหลังนี้ ก็พบว่า มีการรื้อถอนและสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ทดแทน แต่ไม่ทราบปีที่รื้อและสร้าง ทั้งนี้น่าจะถูกรื้อก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยดูจากปีที่รับแผ่นไม้นี้มาเก็บรักษาไว้เป็นเกณฑ์

ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป เห็นว่า ผลงานจิตรกรรมชุดนี้ มีความสวยงามและน่าสนใจหลายประการ สมควรแก่การนำมาศึกษาและเผยแพร่ เนื่องจากไม่ได้มีการจัดแสดงสู่สาธารณชนให้ได้พบเห็นมากว่า ๓๐ ปีแล้ว อีกทั้งเรื่องราวบนแผ่นไม้ หากได้นำมาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ก็จะเป็นการเติมเต็มประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของผลงานชุดนี้มากยิ่งขึ้น

จากการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้น จิตรกรรมทั้ง ๓๔ บาน มี ๒บานที่สามารถต่อเข้ากันได้เป็นแผ่นเดียวกัน เรื่องราวที่เขียนบนแผ่นไม้ จำแนกได้ตามเรื่องดังนี้
๑. พุทธประวัติ ๑๔ บาน
๒. ทศชาติชาดก ๕ บาน
๓. ปัญญาสชาดก ตอนสุภมิตตชาดก ๒ บาน
๔. เรื่องพระพุทธบาท ๕ สถาน ๑ บาน
๕. เรื่องตำนานตะขาบ ๑ บาน
๖ ลวดลายดอกพุดตาน ๑๐ บาน

โดยเบื้องต้นสันนิษฐานจากรูปทรงของแผ่นไม้ และการวางองค์ประกอบภาพที่เรียงกันไปตามแนวยาว ประกอบกับคำบอกเล่าว่า ศาลาการเปรียญหลังนี้ มีลักษณะเป็นศาลาโถง จึงสันนิษฐานว่าใช้ประดับบริเวณคอสองของศาลาการเปรียญหลังนี้

การกำหนดอายุ เมื่อเปรียบเทียบลายเส้นฝีมือการวาดของจิตรกรรมสองเรื่องหลัก คือพุทธประวัติและทศชาติชาดก จะพบว่าทั้งสองเรื่องนี้มีฝีมือ และลายเส้นที่ต่างกัน โดย จิตรกรรมพุทธประวัติ จะมีฝีแปรงที่หนากว่า สีจัดกว่า ส่วนทศชาติชาดก จะมีลายเส้นที่อ่อนช้อย บางเบา และละเอียดกว่า แต่ก็เชื่อว่า ทั้งสองตอน น่าจะวาดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันโดยช่างฝีมือคนละท่าน เมื่อดูจากการวาดภาพอาคารบ้านเรือน ที่มีลักษณะของอาคารแบบตะวันตก ผสมผสานอยู่กับอาคารแบบไทยประเพณี รวมทั้งภาพทิวทัศน์ภูเขาที่ดูเหมือนจริง แสดงถึงการนำเอาอิทธิพลศิลปะตะวันตก เข้ามาผสมผสานเป็นรูปแบบที่นิยมวาดขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงสันนิษฐานว่า ภาพชุดนี้น่าจะวาดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๖๗ –๒๔๑๑)

Exhibition date: 
1 Mar 2014 - 09:00 to 27 Apr 2014 - 16:00