^ Back to Top

นิทรรศการ "Procession of Dystopia"

นิทรรศการ "Procession of Dystopia"

นิทรรศการ "Procession of Dystopia" ผลงานโดย ฆนาธร ขาวสนิท (Kanatorn Khaosanit), วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย (Wattanapume Laisuwanchai) และ เขตสิน จูจันทร์ (Khetsin Chuchan) จัดแสดงระหว่างวันที่ 2 - 14 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : bacc

นิทรรศการมีจุดเริ่มต้นจากงานเขียนของ ฆนาธร ขาวสนิท ในชื่องาน "Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love is a Rebellion They Cannot Crush" ฆนาธรลงมือเขียนเรื่องสั้นที่เป็นดังกระจกสะท้อนปัญหาของสังคม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการตีความและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานให้ศิลปินอีก 2 ท่าน คือ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านงาน Visual Performance ในชื่อ “ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ” และเขตสิน จูจันทร์ นักประพันธ์ดนตรีที่สร้างงานจัดวางทางเสียง รวมถึงการประพันธ์ดนตรีขึ้นใหม่ประกอบกับการบันทึกเสียงสดในสภาพการณ์ต่างๆ ในผลงานชื่อ “สวนสิ่งไม่สำคัญ” (Garden of Insignificant Things)
 
การทำงานในครั้งนี้มีที่มาจากสภาวะร่วมสมัยของสภาวะแวดล้อมที่ศิลปินได้เผชิญหน้าอยู่ในช่วงเวลาส่วนมากของชีวิต ในมิติที่ทั้งลืมตาตื่นจวบจนหลับตาลง (และไม่อาจฝัน) การเชื่อมร้อยเนื้อหาผ่านการตีความ ที่ไม่เพียงแต่เชื่อมโยง แต่ยังต่อยอดในวิธีตีความและแตกขยายเหมือนกิ่งก้านต้นไม้ และขับเน้นในประเด็นที่ศิลปินแต่ละท่านสนใจจะลงลึกในกระบวนการขบคิดและค้นหากลวิธีใหม่ๆ ในการทำงาน จนเกิดเป็นผลงานที่สะท้อนแนวคิดของศิลปินได้อย่างแยบคาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ให้ผู้ชมได้ทบทวนและตีความได้อย่างมีอิสระ
 
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครชวนให้ผู้ชมร่วมสำรวจปรากฏการณ์ในสังคมที่แฝงอยู่ในผลงานของศิลปิน และลอบสังเกตการเชื่อมร้อยสภาวะดิสโทเปียที่ศิลปินทั้งสามได้จัดวางไว้ในชิ้นงาน ภายใต้สภาวะที่ศิลปินได้จำลองพื้นที่สมมติที่ประกอบด้วยมิติของภาพ เสียง และบรรยากาศที่สะท้อนร่องรอยของโลกแห่งใดแห่งหนึ่งที่โอบรัดเราไว้ร่วมกัน
 
กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง
ภัณฑารักษ์
---

Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love is a Rebellion They Cannot Crush
ฆนาธร ขาวสนิท
นักเขียน
 
แรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้เริ่มต้นจากโจทย์ในการเขียนเรื่องสั้นสำหรับนิทรรศการ Procession of Dystopia ซึ่งจะถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานศิลปะในแขนงอื่นๆ เช่น ภาพเคลื่อนไหวและเสียง เมื่อได้ยินชื่อนิทรรศการครั้งแรก ภาพของขบวนผู้คนที่หัวใจถูกควักออกจนกลวงโบ๋ เดินไปมาเดินมาอย่างไร้จุดหมายก็ผุดขึ้นมาในความคิด นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความสำคัญของความรัก การดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากรัก เมื่อความรักดันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม
 
เรื่องราวถักทอผ่านความตั้งใจที่จะเล่นล้อไปกับเรื่องเล่าพาฝัน นิยายน้ำเน่า ในทำนองเดียวกับ Romeo and Juliet และอื่นๆ ในยุคไล่เลี่ยกัน ผสมผสานกลิ่นอายของสำบัดสำนวนแบบลิเกเข้ากับฉากหลังของโลกอนาคตที่มีเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น โดรน ปืนเลเซอร์ และประตูมิติ
 
ในขณะที่ผู้เขียนกำลังพัฒนาเรื่องราว ชุดคำสัมผัสอย่าง "Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love Is a Rebellion They Cannot Crush" ก็ปรากฏขึ้นบนหน้ากระดาษ กระทั่งนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นบทเพลงแห่งการปฏิวัติ และเป็นแรงผลักดันให้เส้นเรื่องดำเนินไป
 
โลกในเรื่องสั้นเป็นโลกดิสโทเปียที่ถูกปกครองโดยเผ่าสิบเนตร ผู้ควบคุมทุกอย่างแม้กระทั่งความรัก ความรักกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะผู้คนถูกกดขี่ข่มเหงจนแทบไม่เหลือความหวัง แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นในโลกดิสโทเปียอันเป็นโลกสมมติ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน การควบคุม การกดขี่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ต่างก็ล้วนเกิดขึ้นจริงในโลกของเรา เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเป็นกระจกสะท้อนปัญหาเหล่านั้น เพื่อชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงคุณค่าของเสรีภาพและความรักไปพร้อมๆ กัน
 
นอกจากนั้นแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังหยิบยกประเด็นเรื่องการมีชีวิตเป็นอมตะอันเป็นประเด็นคลาสสิกมานำเสนอ นี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ทั้งในวรรณกรรม และชีวิตจริงมาอย่างยาวนาน โดยได้สำรวจผ่านตัวละครเผ่าพันธุ์สิบเนตร เผ่าพันธุ์ผู้มีชีวิตเป็นอมตะ แต่หัวใจกลับตายด้าน เต็มไปด้วยความว่างเปล่าและโดดเดี่ยว นำไปสู่คำถามที่ว่า ชีวิตที่ยืนยาวโดยปราศจากความรักจะเรียกว่าชีวิตได้อย่างไร ในเมื่อตัวละครอีกตัวกล่าวไว้ว่า “ชั่วนิรันดร์ไม่ทำให้ใครรักใครได้จริง” ประเด็นนี้กลายเป็นหนึ่งในแก่นสำคัญของเรื่อง และนำไปสู่การหักมุมในตอนท้าย
---

ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ
วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย
ผู้กำกับภาพยนตร์ และออกแบบ Visual Performance

งานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากเรื่องสั้น “Let them see us, Let them fear us, Our love is a rebellion they cannot crush” ของ ฆนาธร ชาวสนิท โดยหยิบยกบางฉากบางตอนในเรื่องที่พูดถึงเมืองที่ไม่สามารถแสดงออกความรัก การกอดรัดสัมผัสกันบนท้องถนนจึงเป็นวิธีการประท้วงและต่อต้านผู้มีอำนาจ

จากโลกในจินตนาการของ ฆนาธร ชาวสนิท ทอดต่อสู่ประสบการณ์จริงที่ผมได้เจอ เมื่อปลายปีที่แล้ว น้องบุ๊ค ธนายุทธ ณ อยุธยา ที่ผมได้ตามถ่ายสารคดีในภาพยนตร์ School Town King ถูกนำเข้าเรือนจำในคดีครอบครองวัตถุระเบิดโยงเหตุระเบิดหน้าบ้านประยุทธ์ ในวันตัดสินคดีทำให้ผมมีโอกาสได้รู้จักกับ นิว แฟนสาวของบุ๊ค ทั้งคู่พบรักกันและร่วมเดินทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ ตลอดระยะเวลาที่ทั้งคู่รักกัน มีหลายบทพิสูจน์ที่ทำให้ผมเห็นถึงพลังของความรักที่ไม่แยกอุดมการณ์ออกจากกัน ทั้งคู่ล้วนเป็นพลังส่งเสริมต่อกัน ให้กำลังใจกันแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต

ปัจจุบันบุ๊คถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นระยะเวลากว่า 10 เดือนแล้ว ระหว่างช่วงที่บุ๊คอยู่ในเรือนจำ ผมได้ไปเยี่ยมและเห็นความทุกข์ในใจที่ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับแค่ทั้งสองคน แต่กับญาติและครอบครัวของนักโทษทางการเมืองอีกหลายคนที่แม้ตัวต้องอยู่ข้างนอก แต่คดีทางการเมืองก็จองจำพวกเขาไว้ไม่ต่างกัน

ร่างกายอยากปะทะเพราะรักมันปะทุ ต้องการถ่ายทอดสภาวะของการถูกแยกร่างห่างจากคนรัก ผ่านระยะห่างของจอ 2 จอ ที่การสัมผัสเป็นภาษารักพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์มี แต่กลับทำไม่ได้ในสภาวะบ้านเมืองที่วิปริตผิดปกติ ผู้ชมจะอยู่ในฐานะประจักษ์พยานที่ไม่ใช่ความผิดต้องโทษ แต่เป็นความคิดถึง ความโศกเศร้า ความโกรธแค้นจากความไม่เป็นธรรม และการปะทุรวมตัวกันของพลังงานความรักที่แม้ไม่ได้มองด้วยตาเปล่า แต่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยกายและใจ
---
สวนสิ่งไม่สำคัญ (Garden of Insignificant Things)
เขตสิน จูจันทร์
นักประพันธ์ดนตรี และนักจัดวางทางเสียง

เวลาทำสวน เราเลือกพันธุ์พืชที่ต้องการ ลงมือชุบเลี้ยงกล้าไม้ เรียนรู้ภูมิอากาศและความละเอียดอ่อน ของดินน้ำ และเราหวังว่าต้นไม้ของเราจะงอกเงยแม้ว่าความเป็นจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น ในขณะที่กำลังทำสวนอยู่นั้น สวนกลายเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย ในโลกปัจจุบันที่ชีวิตของปัจเจกบุคคลและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เลือนหายไปในกระแสของความทุกข์ยาก เราจะยังสามารถทำนุบำรุงดูแลชีวิตอื่น ๆ ต่อไปอย่างไรได้บ้าง
 
สวนสิ่งไม่สำคัญ (Garden of Insignificant Things) เป็นบทประพันธ์ดนตรีและการจัดวางเสียงที่เป็นเสียงสะท้อนจากเรื่องสั้นเรื่อง Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love is a Rebellion They Cannot Crush ของฆนาธร ขาวสนิทและแนวคิดของงาน Procession of Dystopia เสียงในผลงานนี้เป็นการผสมผสานระหว่างบทประพันธ์ดนตรีกับเสียงที่บันทึกในสถานที่ต่าง ๆ (field recording) อาทิ กิจวัตรของผู้คน บทสนทนา เสียงสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ และสภาพแวดล้อมในกรุงเทพ ฯ เสียงเหล่านี้คือชีวิตที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับกับเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก จนมองข้ามชีวิตเล็ก ๆ ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
 
เสียงของสิ่ง “ไม่สำคัญ” ได้รับการรวบรวมและหว่านลงไปในพื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างสวนเล็ก ๆ ในโลกที่แร้นแค้น สวนของสิ่งไม่สำคัญนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงชีวิตที่ดำรงอยู่รอบตัวเรา ซึ่งเป็นชีวิตที่คู่ควรแก่การดูแลรักษา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
ฝ่ายกิจกรรมศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Website : www.bacc.or.th
Facebook : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Exhibition date: 
2 Jul 2024 - 10:00 to 14 Jul 2024 - 20:00