นิทรรศการ "Scent and Memory"
นิทรรศการ "Scent and Memory" ผลงานโดย ปราง เลิศทวีวิทย์ (Prang Lerttaweewit), ทากาชิ โคจิมะ (Takashi Kojima) และ ลิซซู ตัน (Liszu Tan) จัดแสดงระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน - 18 สิงหาคม 2567 ณ อัตตา แกลเลอรี่ : ATTA Gallery
Scent and Memory
นิทรรศการกลุ่มโดย
ปราง เลิศทวีวิทย์, ทากาชิ โคจิมะ และ ลิซซู ตัน27 มิถุนายน – 18 สิงหาคม 2567
งานเปิดนิทรรศการ 2 มิถุนายน 2567 เวลา 18:00 – 20:00 น.อัตตา แกลเลอรี่ มีความยินดีขอเชิญเป็นเกียรติร่วมงาน และ พบปะพูดคุยกับศิลปิน ในงานเปิด Scent and Memory นิทรรศการกลุ่มโดย ปราง เลิศทวีวิทย์ ทากาชิ โคจิมะ และ ลิซซู ตัน ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 ระหว่างเวลา 18:00 – 20:00 น. พร้อมการแสดงสดโดยลิซซู ตันในเวลา 19:00 น. โดยนิทรรศการจะมีจัดไปจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2567
เกี่ยวกับนิทรรศการ
คุณจำประสบการณ์ที่กลิ่น ๆ หนึ่ง พาคุณกลับไปยังความทรงจำและสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในอดีตได้หรือไม่?
คุณคิดว่าวัตถุที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น ๆ หนึ่ง จะสามารถกระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่นนั้นได้หรือไม่?
และถ้าหากคุณสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่น ความสามารถในการระลึกถึงความทรงจำบางอย่างของคุณจะได้รับผลกระทบหรือไม่?
จากประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การรับรส และการดมกลิ่นนั้น การดมกลิ่นมีความสามารถในการกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นกว่าประสาทสัมผัสอื่น ๆ ความเชื่อมโยงนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกายวิภาคของสมอง และวิธีที่สมองประมวลผลข้อมูลประสาทสัมผัส ผู้คนมักจะมีประสบการณ์การระลึกถึงที่ชัดเจนและเกิดขึ้นทันทีทันใด เมื่อได้กลิ่นบางอย่าง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "Proustian memory" ตามชื่อของ Marcel Proust ผู้ที่ได้อธิบายประสบการณ์นี้ในผลงานวรรณกรรมของเขา
การดมกลิ่นถูกประมวลผลใน olfactory bulb ซึ่งมีการเชื่อมต่อโดยตรงกับ hippocampus และ amygdala ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเก็บข้อมูลความทรงจำและอารมณ์ โดยการประมวลผลของสัญญาณจากประสาทสัมผัสอื่น ๆ จะถูกส่งผ่านไปที่ thalamus ก่อน แต่สัญญาณจากการดมกลิ่นจะข้ามศูนย์กลางการถ่ายทอดนี้และเชื่อมต่อโดยตรงไปที่ระบบ limbic ที่รวมไปถึง hippocampus และ amygdala ซึ่งการเชื่อมต่อโดยตรงนี้จึงอธิบายได้ว่าทำไมกลิ่นถึงสามารถกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ได้ดี การมีอยู่ของกลิ่นในช่วงเวลาที่เกิดความทรงจำ สามารถทำให้กลิ่นนั้นกลายเป็นสื่อกลางที่ทรงพลังสำหรับการเรียกคืนความทรงจำนั้นให้กลับมาได้ในภายหลัง
ความเข้าใจในการเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นและความทรงจำสามารถทำให้เรานำข้อมูลเกี่ยวกับประสาทสัมผัสมาใช้ได้ดีขึ้นในทางการแพทย์ การใช้ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ในงานศิลปะ
ศิลปินทั้งสามท่านที่ร่วมแสดงในนิทรรศการ Scent and Memory ได้สำรวจเรื่องนี้ผ่านการทำงานศิลปะและกระบวนการสร้างสรรค์ของพวกเขาในหลากหลายวิธีที่แตกต่างกันออกไป
ปราง เลิศทวีวิทย์ นักออกแบบประสบการณ์ชาวไทย ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาในการสร้างสรรค์ผลงานในกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่เธอเคยอาศัยอยู่ และในประเทศไทยที่เธออาศัยอยู่ในปัจจุบัน เธอสำรวจการใช้กลิ่นเพื่อกระตุ้นการระลึกถึงความทรงจำ ผ่านโครงการความร่วมมือกับ Mischa Billing และ Josefin Vargö ให้กับศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสวีเดน ต่อมาเธอได้นำกลิ่นมารวมกับผลงานภาพพิมพ์แบบพิเศษผ่าน The Archivist Studio และ เท็ทสุ โคยานางิ โดยที่กลิ่นบางอย่างจะถูกปล่อยออกมาจากการสัมผัสและถูตรงส่วนที่มีสีของภาพพิมพ์ โดยผู้ชมงานแต่ละคนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจพยายามนึกว่ากลิ่นนั้นคือกลิ่นอะไร ในขณะที่บางคนอาจถูกกลิ่นนั้นพากลับไปยังสถานที่และความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่นนั้นในพริบตา
ทากาชิ โคจิมะ ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเกียวโต สร้างงานศิลปะที่สวมใส่ได้โดยใช้วัสดุที่หลากหลายในการทำงานของเขา ในการสำรวจเรื่องกลิ่นและความทรงจำ เขาใช้ขวดน้ำหอม Chanel N°5 ที่ใช้แล้วและไม่มีน้ำหอมเหลืออยู่เพื่อสร้างผลงานในรูปแบบของเครื่องประดับและศิลปะวัตถุ เขาพยายามศึกษาบทบาทของน้ำหอมนี้ในสังคมผู้บริโภคและสนใจว่ากลิ่นสามารถเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความทรงจำของเราได้อย่างไร เขาได้กลิ่นของ Chanel N°5 มาตั้งแต่เด็กเพราะทั้งคุณยายและคุณแม่ของเขาชอบใช้น้ำหอมกลิ่นนี้ และทำให้เขาระลึกถึงความทรงจำที่ดีในวัยเด็ก นอกจากนี้เขายังรู้สึกสนใจว่าการได้สวมใส่ขวดน้ำหอมที่ใช้แล้วสามารถหมายถึงการสวมใส่ความทรงจำของเจ้าของเดิมที่ไม่รู้จักอีกด้วย
ลิซซู ตัน ศิลปินสหวิทยาการชาวมาเลเซีย สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอแสดงออกถึงกระบวนการรักษาตัวเองหลังอุบัติเหตุผ่านผลงานประติมากรรมผ้า (soft sculpture) ที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวในระบบเส้นประสาทและพังผืดในร่างกายเป็นงานจบการศึกษาของเธอจาก Lasalle College of Art ที่สิงคโปร์ นิทรรศการนี้ทำให้เธอกลับมาสำรวจถึงการขาดการเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นและความทรงจำ โดยตั้งคำถามว่ามันยังจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เธอจะระลึกถึงภาพความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่น จากกระบวนการสำรวจนี้ เธอจึงทำการระลึกถึงประสบการณ์ทางกลิ่น โดยการแปลงสภาพให้ถูกแสดงออกผ่านทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ แทน
เราขอเชิญทุกท่านมาสัมผัสกับผลงานศิลปะที่นำเสนอในนิทรรศการ Scent and Memory ผ่านประสาทสัมผัสการดมกลิ่นและการมองเห็น เพื่อค้นหาด้วยตัวเองว่าความทรงจำหรืออารมณ์บางอย่าง—ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี—จะสามารถถูกระลึกถึงได้หรือไม่