^ Back to Top

นิทรรศการ "Global WARning"

นิทรรศการ "Global WARning"

นิทรรศการ "Global WARning" ผลงานโดย กฤษฎางค์ อินทะสอน (Krissadank Intasorn), ณเรศ จึง (Narate Jung), ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล (Teerawat Nutcharoenpol) และ ธีธัช ธนโชคทวีพร (Tetat Tanachokthaweporn) จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม - 20 สิงหาคม 2566 ณ Matdot Art Center

Global WARning

ศิลปิน: กฤษฎางค์ อินทะสอน, ณเรศ จึง, ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล, และธีธัช ธนโชคทวีพร
ภัณฑารักษ์: ชโลธร อัญชลีสหกร
ระยะเวลาจัดแสดง: 17 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2566
พิธีเปิดนิทรรศการ: 17 กรกฎาคม, 18.00 น.
สถานที่: MATDOT Art Center (Blacklist Gallery and Matdot Gallery)

โลกของเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์มากมายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศที่ผันแปร การสูญพันธุ์ ของพืชและสัตว์หลายชนิด ตลอดจนสงครามที่นํามาซึ่งความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือการกระทําของมนุษย์ ล้วนทิ้งร่องรอยความเสียหายเอาไว้ให้กับโลก หากเปรียบโลกใบนี้เป็นเหมือนกับ สิ่งมีชีวิต ก็คงไม่ต่างอะไรกับผู้ป่วยระยะวิกฤต สัญญาณชีพที่ดังผิดจังหวะราวกับการเตือนให้รู้ว่า โลกใบนี้ต้องได้รับการรักษาเยียวยาอย่างเร่งด่วน

ณเรศ จึง สังเกตสัญญาณที่ค่อยๆ เร่งตัวขึ้นผ่านข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก เขาเลือกที่จะสร้างพื้นที่ เฉพาะตัวขึ้นเพื่อลดทอนการไหลบ่าอย่างรวดเร็วของข้อมูลเหล่านั้น แยกแยะประเด็นสําคัญ ก่อนจะนําไปสู่การ สํารวจตรวจสอบความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ในทํานองเดียวกัน ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล เชื่อในความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต มนุษย์คงทําได้เพียงรับทราบ วิเคราะห์ และกลั่นกรอง ข้อมูล เพื่อค้นหาเฉพาะสิ่งสําคัญและกําจัดสิ่งไร้ค่าออกไป ธีธัช ธนโชคทวีพร ออกเดินทางพร้อมสัมภาระที่ เก็บเกี่ยวตามระหว่างทาง ทั้งจําเป็นและไม่จําเป็น สะสมจนกลายเป็นภาระหนักหน่วงที่ต้องแบก เปรียบเสมือน สัญลักษณ์ของความโลภและความโง่เขลาของมนุษย์ที่อาจนําไปสู่ภยันตรายไม่คาดคิด ส่วน กฤษฎางค์ อินทะ สอน สร้างสรรค์ผลงานจากสภาวะภายในจิตใจ วิกฤตการณ์ที่กําลังดําเนินอยู่ในปัจจุบันกลายเป็นจุดเริ่มต้น และจุดเปลี่ยนสําหรับเขาในการย้อนกลับมาเรียนรู้ตัวเอง เพื่อแสวงหาทางเดินใหม่ๆ ต่อไป

แม้ช่องทางการรับรู้ วิธีการประมวลผลและรับมือของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ทว่าวิกฤตที่ เกิดขึ้น ในโลกปัจจุบันได้สร้างแรงสั่นสะเทือนที่ทําให้ศิลปินทั้งสี่ตระหนักรู้ถึงภาวะคับขันในการดํารงอยู่ของโลก ผ่านความอึดอัดในการดําเนินชีวิต จนต้องเสาะหาทางออกเพื่อโลกและตัวตนของพวกเขา

............

เกี่ยวกับศิลปิน

กฤษฎางค์ อินทะสอน หรือ Dr. RED (เกิดปี 2529) เกิดที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรีสาขาจิตรกรรม จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทและปริญญาเอกสาขา ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร Dr. RED
หลงใหลการวาดเขียนและปั้นดินมาตั้งแต่จําความได้ เขาเริ่มต้นเรียนรู้สร้างสรรค์งานศิลปะด้วยตัวเองจากการ วาดภาพเลียนแบบตัวการ์ตูนที่ฉายทางโทรทัศน์ ปั้นดินจอมปลวกที่หามาให้และดินน้ํามันที่พ่อใช้ทํางาน เป็น รูปสัตว์ประหลาดต่างๆ ตามหนังที่ชอบ

Dr. RED เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะอย่างเต็มตัวผ่าน “โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยกับ ศิลปินแห่งชาติ ครั้งที่ 2” จัดโดยสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และได้รับการคัดเลือก ให้รับทุนส่งเสริมการเดินทางศึกษาดูงานศิลปะในมหกรรมการแสดงศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล ครั้งที่ 54 เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี (2554) หลังจากนั้นได้รับรางวัลจากเวทีประกวดในประเทศอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น รางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี” จากการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่น เยาว์ ครั้งที่ 28 โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร (2554)

ผลงานส่วนใหญ่ของ Dr. RED นําเสนอแนวความคิดที่เกิดขึ้นจากภาวะภายในจิตใจ เพศสภาพ - เพศวิถี และตัวตนที่ถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว จนกําเนิดเป็นบุคลิกภาพสองด้านที่แตกต่างกัน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะของเขาคือ จิตรกรรมแนวป๊อปอาร์ตสไตล์ล้านนา ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างจิตรกรรมพื้นบ้านของภาคเหนือกับตัวการ์ตูนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากโลกตะวันออก (โดยเฉพาะญี่ปุ่น) หรือโลกตะวันตกอย่างการ์ตูนดิสนีย์คลาสสิค และการเขียนอักษรล้านนาลงบนผลงาน โดย การนําเสนอผลงานลงบนพื้นผิววัสดุที่หลากหลาย เช่น ผ้าใบ แผ่นไม้

………….

ณเรศ จึง (เกิดปี 2527) จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจากวิทยาลัยเพาะช่าง สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ก่อนจะได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจากมูลนิธิทิสโก้ เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ที่คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หลังจบการศึกษาเขาได้มีโอกาสทํางานเกี่ยวกับศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น สอนศิลปะ ขายของแฮนด์เมด ออกแบบภายในห้องพักให้กับโรงแรม ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขายังคงทํางานสร้างสรรค์วาดภาพอย่างต่อเนื่อง จนได้เข้าร่วมเป็นศิลปินในโครงการ V64 จนกระทั่งในปี 2555 ณเรศสมัครเข้าทํางานในกองบรรณาธิการ Fine Art Magazine Thailand สร้างประสบการณ์การทํางานอีกด้านหนึ่งที่นอกเหนือไปจากการ เป็นศิลปินให้กับเขา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสําคัญในชีวิต

ในปี 2557 ณเรศแสดงผลงานในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ต่อมาใน ปี 2559 เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจํา และเริ่มต้นอาชีพศิลปินเต็มตัว ในปี 2561 เขาได้ร่วมงานกับ SPACEBARZINE จัดทํา Artzine เล่มแรกในชื่อ GOGHTAKU เปิดตัวที่งาน SQ Art Book Fair 2018 ณ ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาในปี 2562 เขาได้มีโอกาสไปพํานักดูงานศิลป์กับอาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปิน แห่งชาติ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ด้านศิลปะในระดับนานาชาติ ให้กับเขา อีกทั้งยังได้ร่วมตรวจสอบหลักสูตรศิลปะในชื่อ “นวัตกรรมศิลป์” และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ คัดเลือกตัวแทนด้านศิลปะ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วกรุงเทพฯ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรีในปี 2565

“สร้างงานตลอดชาติจึง” คือแฮชแท็กที่ศิลปินยึดถือเป็นแนวทางหลักในการทํางานมาตลอด

………….

ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล เกิดปี 2528 ที่จังหวัดชลบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากคณะ จิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานการเล่าเรื่อง วิวัฒนาการของมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ก็ยังคงเต็มไปด้วยความ เชื่อมโยงกับทุกสรรพสิ่ง ทั้งในมิติของธรรมชาติและวัฒนธรรม

ธีรวัฒน์เริ่มต้นการทํางานบนเส้นทางศิลปินอิสระตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา โดยมีงานแสดงนิทรรศการ เดี๋ยวมาแล้วทั้งสิ้นสี่ครั้ง ได้แก่ นิทรรศการ “Bangkok Volume 2555” (บางกอกฉบับ 2555) ณ หอศิลป์แอด บอง แกลเลอเรีย (2555), “Oh My God” (คุณพระช่วย) ณ หอศิลป์จามจุรี (2556), “Well Equipped” (ครบเครื่อง) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (2560) และ “Whisper from the Past” (เสียงกระซิบจาก บรรพบุรุษ) ณ People's Gallery หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2562)

นอกจากนี้ ธีรวัฒน์ยังมีผลงานแสดงร่วมกับศิลปินไทยและนานาชาติ เช่น นิทรรศการ “ศรัทธา Faith Beyond Earth” ณ MOCA Bangkok กรุงเทพฯ (2561), นิทรรศการศิลปกรรมเพื่อผู้ลี้ภัย “Art for Refugees” จัดโดย UNHCR ประเทศไทย ณ MOCA Bangkok กรุงเทพฯ (2562) และเป็นผู้ริเริ่มปฏิบัติงาน เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ พุทธอุทยานถ้ำจักรพรรดิ อําเภอลอง จังหวัดแพร่ และยังคงเดินทางไปเขียน ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

………….

ธีธัช ธนโชคทวีพร (เกิดปี 2519) เริ่มต้นอาชีพบนเส้นทางสายศิลปะภายใต้ชื่อ TETAT สร้างสรรค์ผลงาน หลากหลายกระบวนแบบ ตั้งแต่ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ไปจนถึงศิลปะร่วมสมัย ก่อนที่ช่วงหลังเขาจะหันมาทุ่มเท พลังไปกับการทํางานแบบศิลปะเหนือจริงใหม่หรือ Neo Surrealism อย่างจริงจัง ในปี 2549 ธีธัชส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติ International Biennial Print and Drawing Exhibition ครั้งที่ 12 และ ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไต้หวัน กรุงไทเป นับเป็นแรงผลักดันให้เขามุ่งมั่นทํางานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี 2559 โชคชะตาได้ส่งบททดสอบครั้งใหญ่ คุณพ่อของเขาล้มป่วยและเสียชีวิตลง เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ของเขาเป็นอย่างมาก ผลงานของธีธัชเริ่มมีความหนักแน่นและ
ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม แนวทางที่เปลี่ยนไปดังกล่าวส่งผลให้ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในปี 2560 ธีธัชได้สร้างผลงานชื่อ Dialogue of the memory/Last Station เป็นภาพวาดที่มีความยาวกว่าหก เมตร ถือเป็นผลงานชิ้นสําคัญชิ้นหนึ่งของเขา ปัจจุบันได้รับการสะสมและจัดแสดงอยู่ที่ 129 Art Museum จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในปี 2562 ภาพวาดขนาดใหญ่อีกชิ้น Mood Selection ก็ถูกคัดเลือกเพื่อนําไป ติดตั้งถาวรที่ Mercure Hotel Frankfurt Airport Langen ประเทศเยอรมนี

ในปี 2564 ธีธัชได้รับคัดเลือกให้ส่งผลงานไปจัดแสดงร่วมกับ Limner Gallery NY นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนิทรรศการที่จัดโดย Slowart และในปี 2565 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงใน เทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ Salon Comparaisions ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันธีธัชยังคง สร้างสรรค์และพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง

............

เกี่ยวกับภัณฑารักษ์

ชโลธร อัญชลีสหกร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโท จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความสนใจในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และ การเดินทางไปทํางานในพื้นที่ต่างๆ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในแต่ละสังคม ชโลธรพบ ศิลปะคือสิ่งที่เป็นสากล สามารถสื่อสารถึงผู้คนได้ทุกพื้นที่ ในปี 2558 เธอจึงตัดสินใจเข้าสมัครงานในตําแหน่ง นักเขียนประจํากองบรรณาธิการนิตยสารไฟน์อาร์ท ประเทศไทย เปิดโอกาสให้เธอได้ทําความเข้าใจศิลปะผ่าน แง่มุมของนักสร้างสรรค์ และถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปินและผลงานให้แก่บุคคลทั่วไป นอกเหนือไปจาก บทความทางศิลปะที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์อย่างต่อเนื่องแล้ว ชโลธร ยังได้ทํางาน ร่วมกับสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ทั้งในด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ด้านศิลปะและงานภัณฑารักษ์

นอกจากนี้ ชโลธรยังเคยรับตําแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ในนิทรรศการ “โลกยังคงหมุนไป” สําหรับศาลา ไทย มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 เมื่อปี 2562 และตําแหน่งภัณฑารักษ์ร่วมใน นิทรรศการสําหรับพาวิลเลียนนานาชาติพิมานทิพย์ การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนา
เล่ โคราช 2021

............

เกี่ยวกับแมตดอท อาร์ต เซนเตอร์

แมตดอท อาร์ต เซนเตอร์ คือพื้นที่ทางศิลปะ ณ ย่านเมืองเก่าใจกลางกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งโดยคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหารนิตยสารไฟน์อาร์ท เมื่อ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างผู้คนในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักสะสมงานศิลปะ นักศึกษา หรือผู้รักงานศิลปะ ภายในกลุ่มอาคารสามหลัง ย่านถนนหลานหลวง พื้นที่ใช้สอยอันหลากหลายตั้งแต่คาเฟ่ สตูดิโอ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ห้องทํางาน ส่วนรวม ไปจนถึงห้องพัก เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาใช้เวลาร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่การขยายความร่วมมือไปยังชุมชนภายนอกทั้งในไทยและต่างประเทศ

นอกจากผลงานศิลปะที่สอดแทรกอยู่ในทุกซอกทุกมุมของพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีผ่าน สายตาของภัณฑารักษ์ ภายในอาณาบริเวณของแมตดอทยังประกอบไปด้วยห้องแสดงนิทรรศการสองแห่ง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกในการนําเสนอศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ Blacklist Gallery สําหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนโดยศิลปินที่ได้รับเชิญให้เข้ามาทํางาน ร่วมกับเรา และ Matdot Gallery สําหรับแสดงผลงานของศิลปินในพํานัก

ติดต่อเรา
47 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทร. 02 163 4550
อีเมล matdot@matdotart.com
เว็บไซต์ matdotart.com

เวลาทําคาร
วันอังคาร-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์)
10.00-18.00 น.

Exhibition date: 
17 Jul 2023 - 10:00 to 20 Aug 2023 - 18:00