^ Back to Top

นิทรรศการ "All You Could Hear"

นิทรรศการ "All You Could Hear"

นิทรรศการ "All You Could Hear" ผลงานโดย ซินตา ตันตรา (Sinta Tantra) จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 - 22 กรกฎาคม 2566 ณ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต : Richard Koh Fine Art Bangkok

"All You Could Hear"
นิทรรศการเดี่ยวโดย ซินตา ตันตรา (Sinta Tantra)
1 - 22 กรกฎาคม 2566

ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต กรุงเทพฯ  
อาคารปีเตอร์สัน เลขที่ 712/1 ชั้น 9 ถนนสุขุมวิท

รูปทรงโค้งมนอย่างเป็นธรรมชาติกับวัตถุทรงกลมสีทอง ที่ลอยอยู่ในห้วงลึกของเฉดสีน้ำเงิน ผลงานของ ซินตา ตันตรา (Sinta Tantra) นำเสนอให้ผู้ชมได้ตีความการใช้สีและรูปแบบ ทั้งในแง่ของความหมายทางกายภาพ และความหมายทางจิตวิทยา ชวนให้ผู้ชมเชื่อมโยงตัวตนภายในของเรา ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

"All You Could Hear" นิทรรศการเดี่ยวของเธอจะจัดขึ้นที่ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต (RKFA) กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารปีเตอร์สัน 712/1 ชั้น 9 ถ.สุขุมวิท คลองตัน คลองเตย กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 22 กรกฎาคมนี้

จุดเริ่มต้นของผลงาน All You Could Hear มาจากเทศกาลนีเยปิ (Nyepi) เทศกาลปีใหม่ของชาวบาหลี ซึ่งเป็นวันแห่งความเงียบและการทำสมาธิ โดยชื่อของนิทรรศการนี้ได้มาจากจดหมายที่พ่อของตันตรา เขียนให้เธอในตอนเย็นของวันเทศกาล เขาเขียนว่า “เกาะทั้งเกาะมืดสนิท สวยงามและเงียบสงบ... ไร้แสงไฟจากถนน... สิ่งที่ลูกได้ยินมีเพียงเสียงจิ้งหรีดเท่านั้น” ในการสร้างผลงานครั้งนี้ ตันตราสำรวจถึงคุณภาพของการทำและการจดจ่อต่อสมาธิ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงของธรรมชาติและจักรวาล

ภาพทุกภาพในนิทรรศการนี้ถูกจัดวางในแนวตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่มักใช้ในม้วนกระดาษและภาพวาดจีนโบราณ ดังที่ศิลปินบันทึกไว้ว่า 'ประเพณีตะวันตกและตะวันออกมีวิธีการดูที่แตกต่างกัน ไม่เพียงแต่ในแง่ของวิธีที่เราอ่านข้อความและรูปภาพเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องเวลาของเราด้วย เช่น ปฏิทินบาหลีหมุนรอบดวงจันทร์มากกว่าสุริยจักรวาล หลังจากความตายเราต่างก็กลับชาติมาเกิดกันใหม่อีกครั้ง วงกลมเป็นรูปทรงที่ปรากฎบ่อยครั้งในผลงานของตันตรา โดยสร้างจุดโฟกัสและเล่นกับสัญลักษณ์ที่ใช้ในการฝึกสมาธิ แต่พวกมันยังสามารถถูกมองว่าเป็นจักรวาล - ดาวเคราะห์หรือแม้แต่ระบบสุริยะ การปรากฏขึ้นของดวงจันทร์บนท้องฟ้ายามเที่ยงคืนหรือการจางหายไปอย่างช้า ๆ เมื่อรุ่งสาง ในทางตรงกันข้าม รูปทรงที่เป็นลูกคลื่นและรูปแบบธรรมชาติใน Shadow Movement, Canang Sari และ Golden Celeste จะดูเป็นธรรมชาติมากกว่าและเป็นดอกไม้เขตร้อน ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรมหรือบางทีอาจเป็นเงาเคลื่อนไหวของร่างกายที่กำลังร่ายรำ

ขณะที่ผลงานบนผืนผ้าใบส่วนใหญ่ ใช้สีน้ำเงินปรัสเซียเป็นชั้นๆในการสร้างพื้นหลังสีเข้มที่ดูนุ่มนวล ชิ้นงานที่เล็กลงมา เช่น A Forgotten Kiss and To Meditate is to Dream ใช้ทองคำเป็นพื้นหลัง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและใช้เวลานาน ต้องใช้ทองคําติดลงไปก่อนจะทาสี แสงสะท้อนจากทองในชิ้นงานที่ใช้กระบวนการนี้ จะทำให้สีน้ำเงินมืดลง จนรูปร่างบนผืนผ้าใบดูเหมือนหุบเหวหรืออุโมงค์ที่ลึกเกินจะหยั่งถึง

นอกจากนี้เรายังเห็นภาพวาดบนผ้าลินินทั้งแบบมีขอบและไม่มีขอบ ซึ่งเมื่อถมสีน้ำเงินลงมาเต็มจนถึงขอบของภาพ เราจะรู้สึกราวกับถูกดูดเข้าไปจนหลงอยู่ในพื้นที่แห่งนั้น ส่วนภาพวาดที่ยังมีขอบจะให้ความรู้สึกถึงการควบคุมได้มากกว่า ต่อให้จะไม่เคยมีประสบการณ์ร่วม หรือไม่เคยทำสมาธิมาก่อน เราก็จะเข้าใจและรับรู้ได้ว่า เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับภาพอยู่

หัวใจสำคัญของการจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ คือการเล่นกับความเปลี่ยนแปลงชั่วขณะของรูปร่างและสี แสงจากธรรมชาติที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา จะนำเสนอมุมมองและบรรยากาศที่สดใหม่ให้กับการชมผลงาน ด้วยวิธีนี้ ตันตรา กระตุ้นให้เราพิจารณาว่า กาลเวลา วัฒนธรรม และมุมมองที่เรามีต่อภาพ ส่งผลต่อวิธีที่เราใช้ตีความภาพและพื้นที่ในภาพอย่างไร All you could hear ดึงดูดให้เราหยุดสักครู่ เพื่อเข้าสู่ภวังค์แห่งความสงบและการตรึกตรองอย่างลึกซึ้ง

ศิลปิน ซินตา ตันตรา (Sinta Tantra) เกิดปีพศ.2522 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักจากการใช้สีฉูดฉาดสร้างผลงานขนาดใหญ่ ทั้งงานศิลปะสาธารณะ และภาพวาดแนวเรขาคณิต เธอใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสตูดิโอสองแห่งของเธอที่ลอนดอนและบาหลี งานศิลปะของตันตรา มีหลายมิติและหลายขนาด พื้นที่ในการทำงานของเธอมีตั้งแต่สะพานที่ตัดผ่านเส้นขอบฟ้าของเมือง ไปจนถึงกรอบผ้าลินินที่ถูกขึงและสร้างขึ้นภายในสตูดิโอของตัวเอง งานศิลปะแต่ละชิ้นเป็นเหมือนแบบแปลนแนวแอบสแตรกต์ สําหรับโลกในอุดมคติที่เธอไฝ่ฝัน

เธอเกิดที่นิวยอร์กในครอบครัวพ่อแม่เป็นชาวบาหลีทั้งคู่ ตันตรามาเติบโตที่ลอนดอนและศึกษาศิลปะที่ Slade School of Fine Art (2003) และที่ Royal Academy Schools (2006) ผลงานของเธอได้รับอิทธิพลมาจากแนวทางตะวันตกเช่น Bauhaus, Art Deco, modernism และ abstraction

เอกลักษณ์ในผลงานของเธอคือ ความเป็นบาหลีในบริบทหลังยุคอาณานิคม โดยมี I Gusti Nyoman Lempad ผู้เป็นทั้งศิลปินในศตวรรษที่ 20, สถาปนิก และประติมากรสลักหินชาวบาหลีเป็นผู้บุกเบิกและแนะนำให้รู้จักกับการใช้เส้นสองมิติและพื้นที่สามมิติ การเลือกใช้พาเลทสีของเธอก็มาจากวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของบาหลี

Artist: 
Exhibition date: 
1 Jul 2023 - 10:00 to 22 Jul 2023 - 19:00