นิทรรศการ "The Archetype and the Avant-Garde: Luminous Journey"
นิทรรศการ "The Archetype and the Avant-Garde: Luminous Journey" ผลงานโดย ปรีชา เถาทอง (Preecha Thaothong) และ พงษ์พันธ์ สุริยภัทร (Pongpan Suriyapat) จัดแสดงระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 7 มิถุนายน 2566 และจะมีพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2566 เวลา 16.00 ณ ละลานตา ไฟน์อาร์ต : La Lanta Fine Art
The Archetype and the Avant-Garde: Luminous Journey
ปรีชา เถาทอง
ร่วมกับ
พงษ์พันธ์ สุริยภัทร
ละลานตา ไฟน์อาร์ต
29 เมษายน – 7 มิถุนายน 2566เป็นการสร้างสรรค์งานภายใต้แนวคิดการผนวกศาสตร์และศิลป์ แฝงไว้ด้วยแนวคิดและความสุนทรีย์เกิดเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนของผู้สร้างสรรค์ทั้งสองท่าน อันเป็นการวิพากย์และสะท้อนมุมมองของศิลปะและชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง
ผลงานชุดธรรมจักรของ ศาสตราจารย์ ปรีชา เถาทอง นำเสนอสัจธรรมเกี่ยวกับมนุษย์ที่ถือกําเนิดจากธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในรูปแบบของงานศิลปะจากสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนกลาง และรัตนโกสินทร์ตอนปลาย เป็นผลงานที่แฝงไปด้วยคติธรรมที่กล่อมเกลาจิตใจของผู้ชมให้สัมผัสภูมิปัญญาคุณค่าของแนวคิดของแต่ละยุคสมัย
พงษ์พันธ์ สุริยภัทร สร้างสรรค์งานศิลปะโดยใช้ Generative system ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่ต้องการการมีส่วนร่วมโดยตรงจากศิลปิน แต่จะอาศัยชุดของกฎที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเช่น สมการทางคณิตศาสตร์ คำสั่งคอมพิวเตอร์ หรือปัจจัยทางธรรมชาติ เพื่อสร้างงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ให้บังเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ ผลงานที่ได้จากการสร้างสรรค์งานศิลปะโดยใช้ Generative system จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันได้เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถคาดเดารูปแบบที่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวศิลปินเอง แต่สามารถอาศัยเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการสร้างงานศิลปะที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ได้
พงษ์พันธ์ นำผลงานและแนวคิดจากปรากฏการณ์ทางแสงและเงาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของ ศ. ปรีชา มาผนวกเข้ากับการสังเกตปรากฏการณ์ของแสงในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยการนำเอาคุณสมบัติเพิ่มเติมต่าง ๆ ของแสง อาทิ การสะท้อน (Reflection) การหักเห (Refraction) การเลี้ยวเบน (Diffraction of Wave) และการแทรกสอดของคลื่น (Interference) และสมบัติของคลื่นในด้านอื่น ๆ อันสามารถสร้างปรากฏการณ์ทางสุนทรียะในอีกหลากหลายมิติ ที่สามารถสื่อถึงชีวิต และธรรมชาติได้เช่นเดียวกัน
พิธีเปิดนิทรรศการจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2566 ที่ละลานตา ไฟน์อาร์ต เวลา 16.00 – 19.00 น.
----------------------------
ประวัติย่อ ศาสตราจารย์ ปรีชา เถาทอง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2552
ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2491 ที่ กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้รับปริญญาศิลปะบัณฑิต เกียรตินิยม อันดับ ๒ (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนไปศึกษาที่ L’ Academia di belle Arte ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์โท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกษียณอายุในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ ๑๐ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง เป็นศิลปินที่มีแนวคิดที่ทันสมัย สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาศิลปะให้เป็นแนวทางสร้างสรรค์ศิลปกรรมไทยร่วมสมัยอย่างมีเอกลักษณ์ ทั้งทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะและผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ตลอดระยะเวลา 40 ปี ในการสร้างสรรค์ศิลปะพร้อมกับผสมผสานกับการศึกษาค้นคว้าด้านวิชาการศิลปะ อีกทั้งยังได้ค้นพบทฤษฎีแสงเงา โดยนำไปสร้างสรรค์ผลงานในแบบนามธรรมที่มีบุคลิกเฉพาะตัว และพัฒนาไปสู่ความสำเร็จสูงสุดในการสร้างสรรค์ศิลปกรรม โดยใช้เอกลักษณ์ของแสงเงา หรือสีทองเป็นส่วนประกอบ ต่อมาใช้วัตถุที่มีความแวววาวเพื่อสื่อความคิดของความเป็นไทยโดยใช้เทคนิคแบบจิตรกรรมแบบไทยประเพณีมาผสม ผสานกับเทคนิคแบบศิลปะตะวันตก วิธีการในการแสดงออก สะท้อนถึงสาระทางพุทธปรัชญา เพื่อชี้นำสังคมและพัฒนาสังคม และแสดงแนวคิดถึงความเป็นไทย ความศรัทธา ความสงบนิ่ง ความศักดิ์สิทธิ์ ในทางศาสนา จนเป็นที่ประจักษ์ของวงการศิลปะและได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2522 จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
...ประวัติย่อ พงษ์พันธ์ สุริยภัทร
พงษ์พันธ์ สุริยภัทร เป็นศิลปิน และสถาปนิก ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพิพิธภัณฑ์ตลอดจนสื่อจัดแสดงต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล และสื่อปฏิสัมพันธ์ นอกจากนี้เข้ายังเป็นศิลปินที่สนใจในการผนวกรวม ศิลปะ เทคโนโลยี และสื่อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ปรากฏการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ทางธรรมชาติ เช่น แรงโน้มถ่วง การเคลื่อนที่อย่างอิสระของมวล เขาเป็นผู้อำนวยการในการออกแบบ และก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และศูนย์การเรียนรู้ ตลอดจนงานศิลปะแบบจัดวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในรูปแบบของ Kinetic Art, Interactive Art และ Generative Art มาแล้วมากมายทั้งใน และต่างประเทศ
เขาได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศประยุกต์ ด้านการใช้เทคโนโลยีในงานศิลปะ (M.Sc. Information Technology: Art and Technology) จาก Chalmers Tekniska Högskola เมือง Göteborg ประเทศสวีเดนในปี 2550 และในปี 2562 เขาจบการศึกษาหลักสูตรภัณฑารักษ์และการดูแลจัดการงานศิลปะร่วมสมัย (CAS Cotemporary Curating) จาก Zürcher Hochschule der Künste เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาการออกแบบที่คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ข่าวประชาสัมพันธ์ : K. Paweena Phumsanguan