^ Back to Top

นิทรรศการ "Toxic Effect"

นิทรรศการ "Toxic Effect"

นิทรรศการ "Toxic Effect" ผลงานโดย ฉายณภา เลปาจารย์ (Chainapa Lepajarn) จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม - 26 มิถุนายน 2565 ณ ห้อง RCB Galleria 1 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก : River City Bangkok

19 พ.ค.—26 มิ.ย. 2022
Toxic Effect
"เมื่อเกิดความไม่สมหวัง
ภายในของข้าพเจ้าจะเอนเข้าหาพื้นที่ด้านลบ
ข้าพเจ้าพยายามแสดงออกโดยซ่อนความเป็นลบออกมา…
แต่เหตุซ้ำๆที่เกิดขึ้น ความคิดเห็นอันขัดแย้ง การถูกเอาเปรียบ
ทำให้ผลผลิตทางอารมณ์ภายในของข้าพเจ้าไม่สามารถเบิกบานได้ทั้งหมด"

– ฉายณภา เลปาจารย์ –

นิทรรศการเดี่ยวโดย ฉายณภา เลปาจารย์ ประติมากรหญิงแกร่งระดับแนวหน้าของเมืองไทย ที่จะพาผู้ชมเข้าไปสำรวจภาวะภายในของ “เพศหญิง” ที่อยู่ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบ การแบกรับแรงกดดันจากสังคมและครอบครัว จนความรู้สึกภายในของพวกเธอเต็มไปด้วยอารมณ์ด้านลบ ทั้งความโกรธเกรี้ยว ก้าวร้าว ประชดประชัน แต่ด้วยสถานะทางสังคมกลับบีบบังคับให้พวกเธอไม่สามารถ “พูด” และ “แสดงออก”ได้อย่างตรงไปตรงมา นานวันเข้าความขุ่นมัวทางอารมณ์ได้บ่มเพาะจนกลายเป็นพิษร้ายที่กัดกินตัวเธอเอง ซึ่งศิลปินเรียกภาวะนี้ว่า Toxic Effect

ฉายณภานับว่าเป็นประติมากรหญิงที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนในเมืองไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เธอมักจะนำเสนอประเด็นการต่อสู้ของผู้หญิงในหลายแง่มุมผ่านงานประติมากรรม ซึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ไม่ได้มาจากใคร นอกจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเธอเอง ฉายณภาทำงานศิลปะเพื่อตอบสนองปูมหลังชีวิตที่ขาดหายไป และบอกเล่าความคิดและตัวตนของเธออย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางความคิดอาจจะไม่ได้ถูกต้องดีงามในสายตาคนทั่วไป และไม่อาจพูดออกมาได้ในชีวิตจริง เธอจึงเลือกที่จะสื่อสารผ่านงานประติมากรรมแทน

นิทรรศการ Toxic Effect นับว่าเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 5 ของเธอ และเป็นนิทรรศการครั้งแรกที่ได้รวบรวมผลงานหลายยุคสมัยของเธอไว้มากที่สุดตั้งแต่ปี 2533 จนถึงผลงานใหม่ล่าสุดที่สร้างขึ้นในปี 2565 นิทรรศการนี้จึงเปรียบเสมือนไดอารี่ที่บันทึกชีวิตการต่อสู้ของเธอ ทั้งการต่อสู้กับสังคมภายนอก และต่อสู้กับภาวะภายในตนเอง เริ่มตั้งแต่เธอเป็นเด็ก ก้าวเข้าสู่วัยสาว และเข้าสู่วัยแม่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบต่อลูก และในวัยปัจจุบันที่ย่างเข้า 70 ปี แต่ยังทุ่มเทให้กับการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง

แม้งานประติมากรรมบางชิ้นจะสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งบทบาทของผู้หญิงในยุคนั้นแตกต่างจากบทบาทของผู้หญิงในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้หญิงรับบทผู้นำทั้งในที่ทำงานและครอบครัว และมี “เสียง” ที่ดังขึ้นในสังคม แต่เรากล้าปฏิเสธหรือว่า ภาวะ Toxic Effect นี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนใดในยุคนี้เลย หรือแท้จริงแล้วพวกเธอแค่เก็บซ่อนภาวะนี้ไว้ได้แนบเนียนกว่าที่เคยเท่านั้น

ฉายณภาชวนให้คุณเข้ามาฟังเสียงกรีดร้องอันเงียบงันจากงานประติมากรรม ซึ่งกลั่นมาจากเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณของเธอ ในฐานะของตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งบางทีเสียงเหล่านี้อาจดังก้องเข้าไปในหัวใจของคุณ

เกี่ยวกับศิลปิน

ฉายณภา เลปาจารย์ (เกิดปี 2498) ประติมากรหญิงที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2521 ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทในปี 2530 ผลงานของเธอนำเสนอแนวคิดการต่อสู้เพื่อผู้หญิง เริ่มจากชุด ตะวัน (ปี 2533 – 2539) ที่เสนอแนวคิดของผู้หญิงตะวันออกที่มีวัฒนธรรมนุ่มนวล แต่แฝงความอดทน ความมีศักดิ์ศรีภายใน คลื่นและลม (ปี 2539 – 2549) เปรียบเทียบปรากฏสึนามิ ทอร์นาโด กับเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ผู้หญิงพบเจอ Uneven Life (ปี 2550 – 2556) นำเสนอทางเลือกในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงที่มีขอบเขตจำกัด และ สตีภพ (ปี 2557 – 2562) ที่ตีแผ่ค่านิยม “ช้างเท้าหลัง” อันไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

Venue: ห้อง RCB Galleria 4 ชั้น 2
เข้าชมฟรี

Exhibition date: 
19 May 2022 - 11:00 to 19 Jun 2022 - 20:00