นิทรรศการ ความงามนามธรรม "ปรัชญา" : ABSTRACT BEAUTY PHILOSOPHY
นิทรรศการ ความงามนามธรรม "ปรัชญา" : ABSTRACT BEAUTY PHILOSOPHY ผลงานโดย สุทธิพันธ์ สิทธิชัย (Sutthipan Sutthichai) และ เดือนฉายผู้ชนะ ภู่ประเสริฐ (Duenchayphoochana Phooprasert) จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2565 ณ People's Gallery ห้อง P1-2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : bacc
ความงามนามธรรม "ปรัชญา"
วันที่ : 01 เมษายน 2565 - 01 พฤษภาคม 2565
สถานที่: People's Gallery ห้อง P1-2
โดย สุทธิพันธ์ สิทธิชัย และ เดือนฉายผู้ชนะ ภู่ประเสริฐผลงานชุด Spirit of nature
โดย เดือนฉายผู้ชนะ ภู่ประเสริฐศิลปะประกอบขึ้นจากการรวมความงามที่กระจัดกระจายอยู่ในธรรมชาติเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เริ่มมาจากการลอกเลียนแบบธรรมชาติแทบทั้งสิ้น ผลงานเหล่านั้นต่างสะท้อนความคิดและจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจและส่องนำทางให้แก่กันและกัน ก่อเกิดเป็นงานสร้างสรรค์ที่ทรงพลังเต็มไปด้วยคุณค่าอย่างมากมายมหาศาล นั่นทำให้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ไม่เพียงเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่งนานาชนิด แต่ยังเป็นบ่อเกิดของงานสร้างสรรค์ทุกแขนงอีกด้วย
งานศิลปะจึงเปรียบเสมือนสื่อกลางในการทำหน้าที่เชื่อมโยงความรู้สึกของผู้คน เพื่อให้ได้สัมผัสถึงพลังแห่งสุนทรียภาพที่เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการปกป้องและรักษาธรรมชาติให้ดำรงอยู่สืบไป
ผลงานชุด นามธรรม สื่อผสม
โดย สุทธิพันธ์ สิทธิชัยผลงานชุดนี้ข้าพเจ้านำเสนอปรัชญาความงามผ่านสถาปัตยกรรมที่มีพื้นผิวหยาบ เรียบ มัน ด้าน ตลอดจนรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่าย ที่ใช้ความทับซ้อนของสีและเส้น (Perspective) มุมมองหลายจุดทำให้เกิดเสน่ห์ โดยใช้กระบวนการในงานจิตรกรรม Drawing ให้เกิดน้ำหนัก เทา ดำ ลึก ตื้น เกิดความงาม ความมีระเบียบที่คนทั่วไปมองไม่เห็น
หลักการความเรียบง่ายที่จะมีการพูดถึงในงานศิลปะชุดนี้คือ Minimalism ซึ่งมีจุดกำเนิดจากศิลปินกลุ่มหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 1960 จากความเบื่อหน่ายในงานศิลปะประเภท Abstract Expressionist ที่มีลักษณะของงานเป็นการสลัดสี สาดสี เทสีสัน เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ซึ่งขัดแย้งกับ Minimalism ที่พูดถึงการตัดทอนจากเหมือนจริงสู่ความเรียบง่าย ลดการเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้เห็นคุณค่าความงามที่แท้จริงอยู่ แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ดี หลักการ Minimalism ได้ถูกนำมาผสมผสานกับแนว (ปรัชญา) ของนิกายเซนญี่ปุ่น ในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ก่อนจะถูกถ่ายทอดไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ จนอาจกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมแบบ Minimalism คือต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบ Modern เพราะอาคารแบบ Modern ก็ให้ความสำคัญต่อการใช้งานเป็นหลัก จึงลดทอนสิ่งตกแต่งต่างที่มาจากอาคารแบบคลาสสิคดั้งเดิมเช่นกัน