นิทรรศการ "ภาพกาก จิตรกรรมฝาผนัง : Phaph Kak (Thai Mural Painting - Wall Art)"
นิทรรศการ "ภาพกาก จิตรกรรมฝาผนัง : Phaph Kak (Thai Mural Painting - Wall Art)" จัดแสดงระหว่างวันที่ 21 กันยายน - 31 ตุลาคม 2563 ณ Green Lantern Gallery - BTS THONG LO: Exit 3
Phaph Kak (Thai Mural Painting - Wall Art) ภาพกาก จิตรกรรมฝาผนัง
“ภาพกาก” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุไว้ว่า ภาพกาก (น.) ภาพเขียนที่เป็นตัวประกอบในเรื่อง
ภาพกากประกอบไปด้วยตัวละครที่เรียกตามภาษาพูดว่า "ตัวกาก" เป็นตัวละครที่ไร้ชื่อ ไม่ใช่ตัวละครหลัก ไม่ได้เป็นตัวเอกในเรื่อง และไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อเนื้อหาในเรื่องราว แต่ตัวกากเหล่านี้รวมตัวกัน เกิดการเคลื่อนไหว เกิดบทสนทนา เกิดท่วงท่าทำนอง ที่ช่วยให้เรื่องราวนั้นๆ ครบรสชาติและเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
อีกบทบาทหนึ่งของภาพกากนั่นก็คือ บทบันทึกที่สะท้อนภาพสังคม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัยที่เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพยังไม่เป็นที่กว้างขวางอย่างในทุกวันนี้ การบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ด้วย ฝีมือของครูช่างโบราณทำให้เห็นว่าผู้คนในยุคก่อนนั้นใช้ชีวิตกันอย่างไร มีการแต่งตัวกันแบบไหน บ้านเรือนหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งการเขียนภาพกากนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ ความอิสระในการแสดงออก เป็นการขยายขอบเขตของขนบการเขียนภาพจิตรกรรมไทยเรื่องหลัก
ในภาพกากนี้เราจะได้เห็นมุขตลก ท่าทางขำขัน การฉีกแข้งฉีกขา สีผิวดำคล้ำ ตาเหลือก ฟันหลอ หน้าตาบูดเบี้ยวเหยเก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฏอยู่ในตัวละครหลักของเรื่อง ภาพกากจึงนับว่าเป็นหัวข้อสำคัญอีกหัวข้อหนึ่งที่จะตัดทิ้งไปไม่ได้ในการศึกษาภาพจิตรกรรมไทย และถึงแม้จะมีหัวข้อกำหนดให้ในสัปดาห์ต่างๆ แต่ผลงานที่ศิลปินคัดลอกมานั้นล้วนแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันไปตามความสนใจของแต่ละบุคคล
การลอกภาพจิตรกรรมมาอยู่บนพื้นที่ขนาด 30 x 40 เซนติเมตรโดยประมาณและจัดแสดงในพื้นที่ตึกแถวใจกลางเมืองอย่าง ย่านทองหล่อนี้ เป็นความน่าสนใจที่เราอยากจะเปิดประสบการณ์การรับชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นการชมภาพจิตรกรรมที่ไม่ใช่การมองจากฝาผนังของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดๆ
เป็นผลงานคัดลอกที่ต่างเรื่องราว ต่างแหล่งที่มาของต้นฉบับ ไม่มีตัวพระ-ตัวนางปรากฏ ไม่มีเส้นเรื่องที่บอกเล่าเรื่องราว มีเพียงเรื่องราวของ “ภาพกาก” จากคนละแหล่งที่มาเป็นตัวเอกของนิทรรศการในครั้งนี้