^ Back to Top

นิทรรศการ “Figuratively Speaking”

นิทรรศการ “Figuratively Speaking”

นิทรรศการ “Figuratively Speaking” ผลงานโดย เมธัส ทั่วจบ (Mathus Tuachob) จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2562 และจะมีพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2562 เวลา 19.00 น. ณ มิตรไนซ์ แกลเลอรี่ : MIDNICE Gallery

“Figuratively Speaking”
นิทรรศการเดี่ยวโดย เมธัส ทั่วจบ
วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ Midncie Gallery

เมธัส ทั่วจบ ศิลปินภาพนู้ด ที่สร้างสรรค์ผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบ และชาโคล เมธัส เข้าศึกษาด้าน Classical Realism ที่ Los Angeles Academy of Figurative Art ผลงานของเขามีเป้าหมายแสดงความงามที่สะท้อนรสนิยมของโลกร่วมสมัยผ่านเทคนิคและวิธีดั้งเดิม ทุกชิ้นงานของเมธัสเป็นการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างศิลปินและตัวแบบที่มีเอกลักษณ์เเละเรื่องราวเฉพาะตัวออกมาเป็นท่วงท่าที่โพส การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและนางแบบจึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำผลงานชุดนี้ และเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้สร้างสรรค์ผลงานต่อไป

ขอเรียนเชิญทุกท่านที่สนใจ ร่วมงานเปิดนิทรรศการวันแรก
ในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2562 เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป
ที่ Midnice Gallery โชคชัย 4 ซอย 18 ถนนลาดพร้าว กทม.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
http://bit.ly/2kDAncJ
Line : midnicegallery Tel. 086 282 0282
Email: midnicegallery@gmail.com

............................

บทสัมภาษณ์ เมธัส ทั่วจบ
เริ่มต้นการเป็นศิลปิน
ผมเริ่มจากการทำงานพวก 3D CG เพราะชอบและอยากทำงานด้านวีดีโอเกม ก็ฝึกฝนจนสามารถทำได้ในระดับนึง แต่ถึงจุดๆนึงเราก็รู้ตัวว่าถ้าเราไม่มีทักษะทางศิลปะ มันก็คงก้าวไปให้ไกลกว่านั้นไม่ได้มาก เพราะการเรียนที่จะใช้โปรแกรมมันคือส่วนที่ง่าย แต่การ “สร้างสรรค์” อะไรออกมาด้วยโปรแกรม มันคือส่วนที่ยากกว่ามาก ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกับพื้นฐานทางศิลปะพวกนี้ ผมเลยตัดสินใจไปเรียนทางนี้โดยตรงที่อเมริกา ไปเรียนวาดภาพ ใช้สี อนาโตมี ฯลฯ แบบสมัยโบราณเลย เพื่อที่จะให้ได้ทักษะที่แน่นที่สุด เหมือนพวกศิลปินจาก Hollywood โดยในตอนนั้นตั้งใจว่าอยากจะทำงานด้าน Concept Art คือเป็นคนออกแบบตัวละคร ฉาก ฯลฯ ให้พวกหนังหรือเกมส์ ในตอนแรก (ซี่งหลังจากดีไซน์แล้ว ก็จะมี 3D Artist คนอื่นๆอีกเป็นร้อย เอาดีไซน์ของเราไปทำเป็นหนัง/เกมส์จริงๆอีกที) ซึ่งพอเรียนไปเรียนมา กลายเป็นว่าเราชอบพวก สีน้ำมัน ถ่าน (charcoal) และพวกสื่อแบบเก่าพวกนี้ มากกว่าอุปกรณ์หรือโปรแกรม CG ซะอีก ผมชอบความรู้สึกเวลาใช้สื่อพวกนี้ ความสากจากปลายดินสอที่ลากผ่านกระดาษ ความ “เด้ง” ของปลายภู่กันบนผ้าใบ ความรู้สึกของการปั้นดินด้วยมือ ฯลฯ สำหรับผมมันกลายเป็นว่าไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ที่เป็นตัวผลงานสุดท้ายที่จะสำคัญ แต่ตัว process หรือการเดินทางไปให้ถึงผลลัพธ์นั้น ก็ทำให้มีความสุขไม่แพ้กัน (หรือจริงๆอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) สื่อเดิมๆพวกนี้คนไม่ค่อยนิยมกันแล้ว (เด็กๆรุ่นใหม่ อยากวาดภาพบน IPad กันหมดแล้ว) ซึ่งแม้มันจะยากกว่า ใช้เวลาสร้างงาน (รวมถึงเวลาเรียน เวลาฝึกฝน) มากกว่า แต่ผมว่ามันมีความ intimate คือมันสร้างความผูกพันระหว่างตัวเรากับงานที่เรากำลังสร้างมากกว่าอุปกรณ์ digital มันทำให้เราสร้างงานด้วยสเกลเวลาที่ช้าลง (สีน้ำมัน 1 รูป ใช้เวลา 3 เดือน) ทำเรามีเวลาขัดเกลาและต้องใช้เวลา “คิด” เกี่ยวกับตัวงานให้มากขึ้น และด้วยความที่มันความเสี่ยงสูงมาก ทำให้มันท้าทายทุกครั้งที่สร้างงาน (เพราะถ้าทำอะไรผิดพลาด งานตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาก็เสียเปล่า) สุดท้ายเลยหลงรักการสร้างงานในทาง Fine Art มากกว่าครับ

สไตล์การวาดภาพ
ผมไม่สนใจเรื่องสไตล์ และไม่เสียเวลาไปคิดถึงมันด้วยครับ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานผมมีสไตล์เป็นยังไง หน้าที่ของผมคือสร้างงานที่ผมอยากดูเอง (เป็นความสำคัญอันดับแรก) งานที่สร้างคือนอกจากจะต้องสวยตามหลักศิลปะแล้ว ต้องรู้สึกว่า “มันคุ้มค่า” คุ้มค่าที่จะใช้เวลาในชีวิตของเรา (3+ เดือนต่อรูป จากข้อบน) ในการสร้างขึ้นมา และคุ้มค่าที่ผู้ชมจะเสียเวลามาชมดู ผมว่าศิลปะมันควรจะเป็นอะไรที่ง่ายๆ จริงใจ และตรงไปตรงมา แทนที่จะเสียเวลาไปคิดหาอะไรมาปรุงแต่ง ด้านเทคนิคการวาดและตัวเนื้อหาในงาน อาจจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของผมในช่วงนั้นๆ แต่หลักการผมก็ง่ายๆ และเป็นแบบนี้มาตลอด คือสนใจแค่วาดรูปที่ สวย รูปที่ผมอยากเห็นเอง และผมรู้สึกว่ามันคุ้มค่า แค่นั้นครับ

Concept ในนิทรรศการ Figuratively Speaking ครั้งนี้
สำหรับงานนี้ ผมอยากจะให้มันมีความ สด มีความ ดิบ มากกว่าจะเป็น composition แบบซับซ้อนหรือมีเรื่องราวอะไรแบบนั้นครับ อยากให้ผู้ชมสามารถ connect ในความรู้สึกกับตัวแบบได้โดยตรง โดยที่มี “รสมือ” ของผมติดไปน้อยที่สุด ซึ่งตามชื่อนิทรรศการ เป็นการเล่นคำ หมายถึงว่า คนดูสามารถที่จะ “รู้สึก” ถึงสิ่งที่ตัวแบบกำลังสื่ออกมา (Speak) แต่ว่าไม่ได้ใช้คำพูดหรือตัวช่วยอื่นๆ ใช้แค่การโพส สีหน้า ท่าทาง ฯลฯ ผ่านทาง Figure (รูปร่างของตัวแบบ) เท่านั้น

ระยะเวลาในการเป็นวาดภาพชุดนี้
ทยอยทำมาทีละนิดทีละหน่อย (ต้องทำงานอื่น หาเงินกินข้าวไปด้วย) รวมๆแล้วน่าจะใช้เวลาราวๆ 4-5 ปี

ปัญหาข้อถกเถียงเรื่องภาพวาดนู้ดในสังคมไทย
ใช่ครับ และในโลกตะวันตกก็กำลังมีปัญหามาก เนื่องจาก #metoo และ เฟมินิสสมัยใหม่ ฯลฯ แต่มันอยู่นอกเหนือหน้าที่และการควบคุมของผม ผมไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดของคนอื่นๆได้ (และไม่สนใจที่จะทำด้วย) ในฐานะจิตรกร หน้าที่ผมคือก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป ทำงานให้ดีขึ้น ให้สวยขึ้น ทำงานที่จริงใจ ไม่หลอกตัวเอง และไม่สนใจที่จะโหนกระแส หรือทำงานเพื่อตลาดหรืออะไร เพราะยังไงก็จะมีคนส่วนนึงที่ไม่ชอบงานของคุณวันยังค่ำ ยังไงเค้าก็จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำอยู่ดี บางคนพอเห็นรูปนู้ดปุ๊บก็จะแอนตี้ทันที ซึ่งคงไปบังคับเค้าไม่ได้
เสียเวลาไปกังวลกับเรื่องพวกนี้ไปก็เปล่าประโยชน์ ผมว่าเราต้องเชื่อมันในสิ่งที่ตัวเองทำและสร้างสรรค์งานใหม่ๆไป จะเป็นการใช้เวลาที่มีประโยชน์ต่อตัวเราเอง และคนอื่นมากกว่า ใครเป็นนางแบบให้ บางคนก็เป็นนางแบบอาชีพที่รับงานถ่ายนู้ดอยู่แล้ว แต่ส่วนมากจะเป็นนางแบบมือใหม่หรือนางแบบสมัครเล่นที่ผมเคยร่วมงานมากก่อนจนสนิทกัน เพราะนางแบบต้องเชื่อใจผม และรู้สึกปลอดภัยมากพอในขณะทำงาน และผมก็ต้องรู้ถึงฝีมือและรูปแบบการโพสของนางแบบเป็นอย่างดีก่อนด้วย ถึงจะทำงานออกมาได้ดีครับ เป้าหมายในอนาคต เป้าหมาย ณ ตอนนี้คือสามารถที่จะเลี้ยงตัวเอง เพื่อทำงานเป็นศิลปินได้แบบเต็มเวลา ระหว่างนั้นก็จะทยอยทำงานชิ้นใหม่ไปเรื่อยๆ และหาเงินสนับสนุนในการสร้างงานสเกลที่ใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต

ความฝันของผมคืออยากสร้างงานในแบบ Old Masters สมัยก่อน ที่เป็นงานชิ้นใหญ่ 3 x 5 เมตร+ มีฉาก ตัวละครและเรื่องราวที่ซับซ้อน เหมือนที่เราเคยเห็นในพิพิธพันธ์ต่างประเทศ แบบนั้นเลยครับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ : มิตรไนซ์ แกลเลอรี่ : MIDNICE Gallery

Exhibition date: 
5 Oct 2019 - 11:30 to 5 Nov 2019 - 20:30