นิทรรศการ "Amnesia"
นิทรรศการ "Amnesia" ผลงานโดย ตะวัน วัตุยา (Tawan Wattuya) จัดแสดงระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 14 กรกฎาคม 2562 และจะมีพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 เวลา 18.00 น. ณ 1PROJECTS Gallery
AMNESIA
by Tawan WattuyaOPENING: Saturday 25 May 2019, 6-9 pm
EXHIBITION: May 25 - July 14, 2019About the exhibition
amnesia [/æmˈniː.zi.ə] - a person’s difficulty of recalling events that happened to them. The large-scale loss of memories, such as facts, information, experiences that should have not been forgotten including forgetting ones’ identity temporarily or permanently. It can be caused by traumatic experiences or by the use of hypnotic drugs.การทวงคืนความทรงจำของตะวัน วัตุยา
มีช่วงเวลาหนึ่งที่แก่นสารหลักในงานศิลปะของไทยดูเหมือนถูกครอบงำด้วยเพดานความคิดเกี่ยวกับ “ชนบทในอุดมคติ” และ “ศาสนาพุทธ” จนทำให้เรารู้สึกถึงความสงบนิ่งในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน ทว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ความปั่นป่วนของการเมืองและสังคมไทยสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการศิลปะเกิดแรงเคลื่อนตัวใหม่ มุมมองใหม่และพลังสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากเดิมในฐานะจิตรกร ตะวัน วัตุยายืนอยู่บนหัวคลื่นของพลังอันทะลักทลายนี้ ภาพวาดของเขาเกี่ยวร้อยกับความสับสนมืดบอดของสังคมการเมืองอย่างแนบแน่น นิทรรศการศิลปะชุด Amnesia ของตะวันเกิดจากแรงสะเทือนใจของเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน 2553 ต่อเนื่องไปจนถึงพฤษภาคมในปีเดียวกัน ส่งผลให้มีประชาชนถูกสังหารเสียชีวิตกว่าร้อยคน
คนที่ตายจากการสังหารหมู่ทางการเมืองไทยมักจมหายไปจากประวัติศาสตร์ เหลือเพียงแค่ตัวเลขให้เรารับรู้ถึงความโหดร้าย แม้กระทั่งตัวเลขของคนตายก็มักคลุมเครือไม่แน่ชัด ใบหน้าและชื่อของพวกเขาเลือนหายไปจากความทรงจำของสังคมอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากชื่อและใบหน้าของผู้สั่งการที่มักได้รับการจารึกลงในประวัติศาสตร์ด้วยสถานะต่างๆ เรามักเรียกช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้ว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” สิ่งที่สูญหายจากสังคมไทยมากที่สุดอาจไม่ใช่ความก้าวหน้าหรือความมั่งคั่ง แต่เป็นความทรงจำต่างหาก
แม้ว่าชื่อนิทรรศการของตะวันมีความหมายถึง “ความหลงลืม” แต่ภาพวาดบุคคลชุดนี้ของเขาคือการทวงคืนความทรงจำ เมื่อเรามองภาพวาดเหล่านี้ เรามองเห็นชีวิต เรามองเห็นมนุษย์ บุคคลเบื้องหลังภาพวาดมีตัวตน มีอุปนิสัย มีบุคลิก มีเอกลักษณ์ มีอดีต และควรจะได้มีปัจจุบัน ใบหน้ากลุ่มเล็กๆ นี้หลากหลายไปด้วยวัย ชนชั้น เพศ ชาติพันธุ์ แต่ละภาพมีอารมณ์แตกต่างกันไป เยือกเย็น มุ่งมั่น ท้อถอย เจ็บปวด แตกต่างจากภาพอาวุธโลหะฟากตรงข้ามที่กระด้าง เยียบเย็น และเหมือนกันหมด
เมื่อเราชมภาพวาดของตะวัน เราจะรู้สึกถึงความเป็นทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” ของตัวศิลปิน ภาพวาดของเขาให้ระยะห่างบางอย่างคล้ายคนนอกมองเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ให้ความสะเทือนใจแบบสายตาของคนในที่ไม่ใช่แค่
ผู้สังเกตการณ์ มุมมองที่ทบซ้อนและขัดแย้งนี้ชักนำให้ผู้ชมภาพเกิดความรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะกึ่งกลางระหว่างบางสิ่งบางอย่าง ภาวะที่มีทั้งความห่างเหินและแนบแน่น ภาวะที่ชวนให้ขบคิดและครุ่นคำนึงถึงสภาวการณ์ของ
การดำรงอยู่ภัควดี วีระภาสพงษ์