นิทรรศการ "Side Reel ร่อนเรื่อง"
นิทรรศการ "Side Reel ร่อนเรื่อง" ผลงานโดย จักรวาล นิลธำรงค์ (Jakrawal Nilthamrong) และ กำจร สันกว้าน (Kamjorn Sankwan) จัดแสดงระหว่างวันที่ 11 - 25 มีนาคม 2561 และจะมีพิธีเปิดในวันที่ 14 มีนาคม 2018 เวลา 18.00 น. ณ ห้องสตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : bacc
นิทรรศการ ‘Side Reel ร่อนเรื่อง’
วันที่ : 11 มีนาคม - 25 มีนาคม 2561
สถานที่: ห้องสตูดิโอ ชั้น 4โดย จักรวาล นิลธำรงค์ และ กำจร สันกว้าน
พิธีเปิดนิทรรศการวันที่ 14 มีนาคม 2018 เวลา 18.00 - 21.00น. ณ ห้องสตูดิโอชั้น 4
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ นำทอง แกลเลอรี่ เป็นผู้สนับสนุน....................................
นิทรรศการ ‘Side Reel ร่อนเรื่อง’ นำเสนอการเล่าเรื่องผ่านศิลปะการจัดวางและภาพยนตร์ที่ชวนให้คุณสำรวจมุมมองของประวัติศาสตร์ในฐานะของทางเลือกการสร้างความทรงจำร่วม
ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการตีความและสามารถมีการตีความได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ ในความหมายหนึ่งประวัติศาสตร์คือความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างเหตุการณ์ ในอีกความหมายหนึ่งประวัติศาสตร์คือความทรงจำร่วมของผู้คน หากกล่าวถึงความทรงจำร่วมในยุคที่คุณอาศัยอยู่ ที่มีการเข้าถึงข้อมูลและช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารเช่นปัจจุบัน คุณมีมุมมองต่อความทรงจำร่วมนี้อย่างไร
ในโครงการภาพยนตร์จัดวาง ‘Side Reel ร่อนเรื่อง’ จักรวาล นิลธำรงค์ นำเสนอพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประวัติศาสตร์ในฐานะของความทรงจำร่วม จากเหตุการณ์กรณีการสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีในจังหวัดพิจิตร และความทรงจำส่วนตัวของ กำจร สันกว้าน ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กในจังหวัดพะเยากับความทรงจำของการเดินจรและการร่อนแร่ทองคำในพื้นที่ที่ในปัจจุบันถูกปิดเป็นเขตหวงห้าม จนทำให้กำจรเกิดการตั้งคำถามต่อภาครัฐและประวัติศาสตร์ ’ฉบับทางการ’และออกตามหาบางอย่างที่อาจสร้างความสอดคล้องระหว่างชุดความจริงระหว่างความทรงจำร่วมและความทรงจำส่วนตัวของกำจรและคนที่เขารู้จัก หนึ่งในนั้นคือกลุ่มนักรบรับจ้างเพื่อแลกกับสัญชาติไทยที่บางส่วนยังไม่ได้การยอมรับในฐานะพลเมืองและยังคงไว้ซึ่งความไร้ตัวตนในความทรงจำร่วมของไทย
โครงการภาพยนตร์จัดวาง ‘Side Reel ร่อนเรื่อง’ โดย จักรวาล นิลธำรงค์ และ กำจร สันกว้าน นำเสนอทางเลือกการสร้างความทรงจำร่วม (alternative collective memory) โดยใช้สื่อผสมระหว่างสื่อภาพยนตร์ ระบบฟิล์ม สื่อภาพยนตร์ดิจิทัล ภาพถ่าย การจัดวางเครื่องฉายและหุ่นจำลองที่ใช้ในการถ่ายทำ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าชมได้สำรวจพื้นที่ของภาพยนตร์และอุปกรณ์ฉายที่มักจะถูกตัดขาดออกจากการรับชมในโรงภาพยนตร์ทั่วไป ทั้งในระบบดิจิทัลและระบบฟิล์ม ที่เปิดเผยถึงกายภาพของฟิล์มที่เป็นภาพนิ่งจำนวนมากที่ต่อกันจนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว รวมไปถึงหุ่นจำลองที่ใช้ในการถ่ายทำที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทำการสำรวจพื้นที่ทับซ้อนของชุดความจริงจำนวนหลากหลายชุดและเลือกที่จะรับรู้และตีความด้วยตนเอง