นิทรรศการ “นามธรรม: สัจจะแห่งศิลปะ”
นิทรรศการ “นามธรรม: สัจจะแห่งศิลปะ” ผลงานโดย อิทธิพล ตั้งโฉลก (Ithipol Thangchalok) จัดแสดงระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม - 22 พฤศจิกายน 2558 และจะมีพิธีเปิด ในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 เวลา 18.00 น. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร : bacc
“นามธรรม: สัจจะแห่งศิลปะ” อิทธิพล ตั้งโฉลก
วันที่ : 14 สิงหาคม - 22 พฤศจิกายน 2558
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8
จัดโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สนับสนุนโดย บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิเอสซีจี
พิธีเปิด 21 สิงหาคม 2558 เวลา 18.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1ผลงานศิลปะเกือบ 100 ชิ้น ทั้งเก่า ใหม่และที่ยังไม่เคยจัดแสดงมาก่อน จากทุกช่วงเวลากว่า 50 ปี ในชีวิตการทำงานของ "อิทธิพล ตั้งโฉลก" เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยของไทยจำนวนน้อยที่คงยืนหยัดบนเส้นทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนามธรรมอย่างมั่นคงและมั่นใจ
นิทรรศการครั้งนี้รวบรวมผลงานของอิทธิพล ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ผลงานจากนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก “Recent Paintings” (2534), “สีสันแห่งแสง” (2543), “วัตถุแห่งจิต” (2545), “จิตวิญญาณบรรพบท” (2549), “ปัญญาญาณและปรีชาญาณ” (2551), “อักขระ” (2556), รวมถึงผลงานชุดล่าสุดที่จะนำมาแสดงเป็นครั้งแรก “การเดินทางของเส้นพากินสัน” (2557-2558)
เส้นทางของการทำงานสร้างสรรค์ของอิทธิพลเริ่มต้นที่การฝึกฝนเชิงเทคนิคภาพพิมพ์ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่ได้รู้จักกับศิลปะนามธรรมอย่างเป็นทางการ เทคนิคหลักของภาพพิมพ์ที่อิทธิพลศึกษาได้แก่ ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม (Silkscreen) ภาพพิมพ์ร่องลึก (Etching) ภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) และภาพพิมพ์หิน (Lithograph) เทคนิคทั้งสี่นำมาสู่แนวเรื่องของการทำงานที่แตกต่างกัน ได้แก่ รูปทรงอินทรีย์ของเมล็ดพืช ต้นไม้ในเมือง ผนังและกำแพง และรูปทรงมนุษย์กับพื้นที่ว่าง อิทธิพลใช้วิธีการค่อยๆตัดทอนรูปทรงเหมือนจริงจนกลายไปสู่ความเป็นนามธรรม จากเมล็ดพืชที่สามารถรับรู้ได้จนกลายเป็นรูปทรงเรขาคณิต จากพุ่มไม้ใหญ่จนเป็นเส้นอิสระ และจากรูปทรงของมนุษย์จนกลายเป็นกลุ่มเศษเสี้ยวของกลุ่มรูปร่างเรขาคณิต เป็นต้น และในเวลาต่อมาเทคนิคพื้นฐานก็นำไปสู่การค้นคว้าหาเทคนิคใหม่ๆ เฉพาะตนซึ่งได้กลายเป็นเนื้อหาของงานด้วย
หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี อิทธิพลได้เดินทางไปศึกษาปริญญาโทต่อที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รู้จักศิลปะนามธรรมอย่างเป็นทางการ อิทธิพลพบว่า แนวทางปฏิบัติเดิมของตนนั้นสามารถเชื่อมต่อกับปรัชญาของศิลปะนามธรรมได้อย่างลงตัว การเรียน การชมผลงานในแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกาได้เปิดประสบการณ์และทัศนคติซึ่งส่งผลต่อการทำงานศิลปะในเวลาต่อมาเมื่อกลับถึงเมืองไทย
อิทธิพลได้พัฒนาการสร้างสรรค์จิตรกรรมในแนวทางนามธรรมให้มีลักษณะเป็นตะวันออกมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยและนานาชาติ ดังเห็นได้จากการได้รับรางวัลการประกวดศิลปกรรมในต่างประเทศและการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติอยู่หลายครั้ง จนได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในปีพ.ศ. 2522
หลังจากทศวรรษ 2520 ศิลปะนามธรรมในประเทศไทยเริ่มเสื่อมความนิยมลง ศิลปินในรุ่นเดียวกันก็เริ่มขยับขยายไปสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบอื่นๆ และแม้ว่าในเวลานั้นจะมีเพื่อนในวงการแนะนำให้เปลี่ยนแนวทางบ้าง แต่อิทธิพลกล่าวตอบอย่างมั่นใจว่า “ศิลปะนามธรรมได้ผลสำหรับผม”
การยืนหยัดบนเส้นทางสายนี้อย่างสงบนิ่ง ต่อเนื่อง และค่อยเป็นค่อยไปได้ทำให้อิทธิพลค้นพบ “สัจจะ” หรือความจริงของศิลปะในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ความจริงของตัววัตถุจิตรกรรม ความจริงของภาษาภาพ ความจริงของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและวัตถุจิตรกรรม ความจริงของจักรวาลที่ประกอบไปด้วยคู่ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นเก่ากับใหม่ แสงกับเงา รูปทรงกับพื้นที่ว่าง อารมณ์กับเหตุผล ปัญญาญาณและปรีชาญาณ เป็นต้น
ในที่สุด การสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานศิลปะในแนวทางที่ศิลปินเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้สาธารณชนประจักษ์ถึงตัวตนและความมั่นคงของอิทธิพลที่มีต่อศิลปะนามธรรม ความเรียบง่ายของศิลปะนามธรรมมีคุณค่า เสมือนกุญแจที่ไขประตูบานใหญ่ที่ศิลปินกล่าวไว้ว่า "นามธรรมเป็นเรื่องของใจ และ "ใจ" คือ กลไกสำคัญที่ทำให้ศิลปินค้นพบ “สัจจะ” ของศิลปะอย่างแท้จริ