นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย "มณเฑียร บุญมา"
ด้วยความร่วมมือจาก ฮานส์ อุลริช โอบริส ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมนานาชาติและผู้อำนวยการร่วมด้านนิทรรศการและกิจกรรมจาก เซอร์เพนไทน์ แกลเลอรี่ กรุงลอนดอน
หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับ Thai Art Archives และคณะผู้จัดการทรัพย์สินของคุณมณเฑียร บุญมา มีความยินดีที่จะประกาศความร่วมมือในการจัดงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย [มณเฑียร บุญมา] ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของมณเฑียร บุญมา ศิลปินไทยผู้ล่วงลับที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ (2496-2543) โดยนิทรรศการจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2556 ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน
งานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย [มณเฑียร บุญมา]: ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานที่ทรงพลังและทรงอิทธิพลทั้งต่อกลุ่มคนในรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลัง นิทรรศการนี้มีการจัดแสดงงานสเก็ตช์ต้นแบบกว่า 60 ชิ้นที่หาชมได้ยาก อีกทั้งยังแสดงถึงกระบวนการคิด และ การทำงานของศิลปินผ่านของสะสม อย่างเช่น เอกสาร สมุดโน้ต สมุดสเก็ตช์ภาพ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย และวิดีโอ ที่เชื่อมโยงกับความร่วมมือกับหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน, Thai Art Archives และคณะผู้จัดการทรัพย์สินของมณเฑียร บุญมา งานนิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงผลงานต่างๆ ของมณเฑียร บุญมา และจัดกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้เข้าชม
ผลงานของมณเฑียร บุญมา คือหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของ Thai Art Archives ซึ่งได้มีการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2553 และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลงานของมณเฑียร บุญมา ที่ไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ความสำเร็จครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้จัดการทรัพย์สินของมณเฑียร บุญมา
แนวความคิดในการจัดนิทรรศการ อ้างอิงถึงหลักปรัชญาสำนักปรากฏการณ์วิทยาเกี่ยวกับ เรื่อง epoch? หรือ “การใส่วงเล็บ” ของเอ็ดมุนด์ ฮุสเซิลล์ นักปรัชญาเยอรมัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะสัจธรรม หรือความจริงในผลงานศิลปะ จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจและตีความวัตถุนั้น เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ถูกสันนิษฐานขึ้นมา หรือเป็นสิ่งที่เราอนุมานในการับรู้ (สิ่งที่อธิบายความจริงของฮุสเซิลล์นั้นสามารถมองและเข้าใจมันจากมิติอื่น ดังนั้น คำว่าสัจธรรมในฐานะปรากฏการณ์วิทยาจึงต้องถูกใส่วงเล็บไว้เสมอ และยังไม่สามารถด่วนสรุปได้) งานนิทรรศการนี้จึงมุ่งหวังที่จะให้ ผู้ชมรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปได้ร่วมศึกษาแนวคิดหรือผลงานของมณเฑียร บุญมา รวมทั้งขยายขอบเขตการรับรู้ ทำความเข้าใจและพิจารณากระบวนการทำงานและแนวคิดของศิลปินอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นตำนานอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้จัดงานนิทรรศการนี้ยังมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้มาชมนิทรรศการได้เห็นผลงานหรือแนวคิดในมิติอื่นๆในการสร้างสรรค์ผลงานของมณเฑียร บุญมา นอกเหนือไปจากอิทธิพลจากพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปอยู่แล้ว เช่นสถานการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 หรือทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นไป
งานนิทรรศการนี้ยังได้รับทั้งความร่วมมือและแรงบันดาลใจจากบทสัมมนาของนักวิจัยชื่อดัง เวอร์จิเนีย เฮนเดอร์สัน ในปี 2548 เรื่องผลงานที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นของมณเฑียร บุญมา (Montien Boonma’s Unrealized Projects) ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือรวมผลงานเพื่อรำลึกถึงมณเฑียรหลังการเสียชีวิตในปี 2548 เรื่อง ตายก่อนดับ: การกลับมาของมณเฑียร บุญมา (Death Before Dying: The Return of Montien Boonma) ซึ่งจัดโดย ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนทน์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ คณะผู้จัดการทรัพย์สินของมณเฑียร บุญมา ยังอนุญาตให้นำภาพร่างและร่างต้นแบบของงานประติมากรรมปี 2541 ชุดบ้านแห่งจักรราศี (Zodiacal Houses) ซึ่งได้รับการรังสรรค์ขึ้นที่สำนักงานกองทุนศิลปะ อคาเดมี ชลอส โซลิถูด (Akademie Schloss Solitude) ในเมืองสตุทการ์ท ประเทศเยอรมนี มาจัดแสดงด้วยเช่นกัน
งานนิทรรศการนี้ได้รับความร่วมมือจาก ฮานส์ อุลริช โอบริส ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ชาวสวิสที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือและงานนิทรรศการชื่อ ถนนที่ยังไม่ได้สร้าง (UNBUILT ROADS) ที่จัดขึ้นในปี 2540 นิทรรศการครั้งนี้เป็นการต่อยอดและเป็นกิจกรรมที่ขยายความจากผลงานของโอบริส ซึ่งมุ่งเน้นด้านการแสดงผลงานของศิลปินที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือผลงานที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนและงานที่เป็นเพียงแนวคิด โดยถือว่างานเหล่านี้เป็นงานศิลปะแบบหนึ่งในตัวของมันเอง และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นหลักฐานอันแสดงถึงกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปินทุกคน ทั้งนี้ โอบริสได้เคยเชิญมณเฑียรเข้าร่วมแสดงผลงานในงานนิทรรศการถนนที่ยังไม่ได้สร้าง (UNBUILT ROADS) ที่จัดขึ้นในปี 2543 มาก่อน แต่มณเฑียรไม่สามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งในงานนิทรรศการ [มณเฑียร บุญมา]: ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก นี้ ได้มีการจัดแสดงจดหมายที่มณเฑียรเขียนโต้ตอบกับเพื่อนและผู้ร่วมงานคือ โอบริสและเอดัวร์ มอร์โนลด์ ซึ่งได้ให้ความร่วมมือในการรวมรวบผลงานของมณเฑียรเพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการครั้งนี้
งานนิทรรศการ [มณเฑียร บุญมา]: ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก นี้จะมีศิลปินและแขกรับเชิญพิเศษ รวมถึงการจัดเสวนาโดยคณะภัณฑารักษ์กับ ฮานส์ อุลริช โอบริส (ผ่านโปรแกรม สไกป์) ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีการถ่ายทอดสดไปยังสถานที่อื่นๆ ที่มีผู้สนใจรับชมการเสวนาทั่วโลก
นอกเหนือจากการเฉลิมฉลองครบ 60 ปี ของการล่วงลับและผลงานของมณเฑียร บุญมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา งานนิทรรศการนี้ยังรวบรวมผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่เหลืออยู่ของภรรยาของมณเฑียร คือ จันทร์แจ่ม (มุกดาประกร) บุญมา ผู้ซึ่งเป็นทั้งศิลปิน คนทำงานภาพพิมพ์และเพื่อนร่วมชั้นเรียนของมณเฑียรที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทั้งสองได้สมรสกันในปี 2529 แต่คุณจันทร์แจ่มเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งทรวงอกในปี 2537 ผลงานของจันทร์แจ่ม บุญมา ได้รับการรวบรวมเพื่อจัดแสดงเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยความเอื้อเฟื้อของจุมพงษ์ บุญมา (บุตรชาย) และคณะผู้จัดการทรัพย์สินของมณเฑียร บุญมา
นิทรรศการ[มณเฑียร บุญมา]: ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2556 เวลา 9.00 - 17.00น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซ.เกษมสันต์ 2 (สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ)